ยาเหลือ ยาสะสม : ปัญหาและการแก้ไข

0
2528

ป่วยหลายโรค หาหมอหลายคน  ลูกหลานซื้อยามาให้  กินยาไม่ถูกวิธี ยาเหลือ ยาเกิน…ปัญหาเหล่านี้ก่อให้ มียาสะสมในบ้านมากมายปะปนกัน  นับเป็นวิธีการใช้ที่ไม่ถูกต้อง

แล้วการสะสมยา กับการมียาสามัญประจำบ้าน ต่างกันอย่างไร

ยาสามัญประจำบ้าน คือ ยาตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ประชาชนสามารถหาซื้อมาใช้ได้ด้วยตนเอง   มีทั้งยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน และยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ซึ่งต้องเป็นยาที่ขึ้นทะเบียนยากับกระทรวงสาธารณสุข

ส่วนยามีการเก็บสะสมของผู้ป่วย มักเป็นกลุ่มยารักษาโรคสำหรับผู้ป่วยเป็นรายๆ  ซึ่อาจเป็นยาที่ได้รับจากแพทย์คนเดียว หรือหลายคน หรือหลายโรค รวมทั้งการซื้อตามร้านขายยา หรือมีลูกหลานซื้อมาให้ มักเป็นกลุ่มยา ของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้ป่วยทั่วไป ที่เข้ารับการรักษาจากแพทย์ หรือนิยมซื้อยากินเอง

การมียาสะสมมากมากเกิดขึ้นได้อย่างไร มีสาเหตุมาจากค่านิยมและพฤติกรรมการใช้ยาไม่ถูกต้อง  เช่น คิดว่ายาที่ไหนดีไปหาซื้อมา เขาว่าหมอที่นั่นที่นี่ดีลองไปหาเผื่อรักษาดีกว่า ยานี้กินไม่หาย ไปซื้อยาเองดีกว่า ยานี้เขาว่าดี ไปซื้อมาลอง

ความไม่เข้าใจเรื่องของยา ไม่เข้าใจวิธีการใช้ยา เรื่องนี้เป็นสาเหตุสำคัญ เช่น กลุ่มยาปฏิชีวนะ หมอบอกกินให้หมด ก็ลืมบ้าง กินบ้าง พออาการดีก็หยุดยาไป ทำให้มียาเหลือ หรือไปหาหมอไม่เอาไปด้วย รับยามาเพิ่มอีก หมอก็ไม่ถาม คนไข้ก็ไม่บอกเล่า  ก็เกิดยาเหลือ  หรือบางคนมีอาการแพ้ยาและหยุดยาตามแพทย์สั่ง แต่ไม่ทิ้งยาเก็บไว้ เสียดาย เผื่อคนอื่นใช้ได้ วิธีปฎิบัติที่ถูกต้องคือ มีอาการแพ้ยาและไปพบหมอ ก็จะมีบันทึกชื่อยาที่แพ้ และต้องทำลายยานั้นๆทิ้งไป

ความเป็นอันตรายของการมียาสะสม ประการแรกคือ สะท้อนให้เห็นถึงการรักษาด้วยยาที่ไม่ประสิทธิภาพ เรื่องนี้ไม่เป็นผลดีต่อการรักษาอย่างยิ่ง ประการที่สองคือ ยาที่สะสมไว้ จะทำให้มียาเสื่อมสภาพ ยาหมดอายุ ยาไม่ครบขนาดรับประทาน มีกลุ่มยาอันตรายปะปน  ฉลากยาเลือนลางหลุดหาย

การแก้ไข คือ ปรับความคิดที่ผิด ปรับความเชื่อที่ผิด และสร้างทำความเข้าใจในการใช้ยารักษา วิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง หากเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง เมือ่ไปพบหมอทุกครั้งไม่ว่าหมอประจำหรือหมออื่น  ไม่ว่าจะเป็นการนัด หรือก่อนการนัดด้วยสาเหตุใดก็ตาม หรือการไปซื้อยาที่ร้านขายยา ควรเอายาที่ใช้อยู่ ไปด้วยทุกครั้ง จะได้ไม่ต้องรับยาเพิ่ม หรืออย่างน้อยเป็นข้อมูลให้หมอทราบว่า เรากินยาอะไรอยู่บ้าง

อย่าเสียดายยา อย่าเผื่อวันหลัง อย่าเผื่อคนอื่น ดังนั้นหากท่านใดมียาสะสมในบ้าน ควรยกออกมา คัดเลือกดูว่า ยาใดที่เป็นยาประจำ  ยาใดที่เหลือเป็นยาสะสม แล้วจัดการทิ้งไป หากยังไม่มั่นใจ ติดใจว่า น่าจะมีบางประเภทพอใช้ได้ต่อ ก็ควรนำยาเหล่านั้นไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาหมอที่ไปรักษา

 

การกำจัดยาทิ้งในบ้านเรา ยังไม่มีมาตรการความปลอดภัยที่ชัดเจน แต่ก็พอจะมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้คือ นำยาไปคืนที่โรงพยาบาลที่รับยามา นำยาไปให้เภสัชกรหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแนะนำวิธีการทิ้งยา หากเป็นยาทั่วไป และจะทิ้งเอง ควรเอาฉลากยาออก แกะยาออกจากแผงยา ใส่ถุงหรือภาชนะปะปนกับเศษขยะ แต่หากไม่มั่นใจวิธีการทิ้งยา ควรปรึกษาหมอ เภสัชกรหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ห้ามนำยาเหลือไปให้คนอื่นโดยเฉพาะกลุ่มยาประจำตัว ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ

 

หากจะมีการบริจาคยา ก็ควรเป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่ซื้อจากร้านขายยาโดยตรง ไม่ควรซื้อยาที่จัดในชุดสังฆทาน

 

กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มักเป็นกลุ่มที่ต้องกินยาประจำ ดังนั้น ควรมีวินัยในการกินยา กินยาให้ถูกวิธี เก็บรักษาให้ถูกวิธี 

©สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์