ระวังสินค้าปลอม ใส่กล่องของแท้ ข้างในเป็นของปลอม

0
2596

ของปลอมส่งผลต่อผู้บริโภคอย่างไร เป็นปัญหาที่สืบเนื่องทั้งจากความปลอดภัยของผู้บริโภคและการละเมิดเครื่องหมายการค้า ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีของปลอมและของเลียนแบบ ทั้งสิ่งของเครื่องใช้ และอาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  หรือแม้กระทั่งยา ที่ปรากฎเป็นข่าวเสมอ

   “พบมีการทำปลอมมาก ได้แก่ สบู่ แชมพู เหล้า น้ำหอม กาแฟ เครื่องปรุงรส เช่น ซอส ซีอิ๊ว น้ำปลา โดยคนทำปลอมจะผลิตของปลอมแล้วนำไปใส่กล่อง ขวดหรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นของจริง โดยกล่อง ขวด หรือบรรจุภัณฑ์ของจริงก็จะไปหาซื้อจากร้านขายของเก่าบ้าง รถซาเล้งบ้าง จึงอยากฝากประชาชนให้ทำลายกล่อง ขวด ก่อนทิ้ง เพื่อให้ไม่สามารถนำไปใช้บรรจุใหม่ได้อีก”นี่คือข้อความ จากหนังสือพิมพ์ ซึ่งเปิดเผยข้อเท็จจริงโดย นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์(12 กย 55)

ซึ่งหากเราได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร เราจะได้รับทราบเป็นระยะๆว่า มีสินค้าปลอม มีการทลายสินค้าปลอม แต่ข่าวนี้ มีความแตกต่างคือ ใช้ขวด หรือกล่องของจริง แต่ตัวสินค้าเป็นของปลอม ดังนั้น จึงมีการแก้ไขกฎหมายเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เพิ่มการบังคับและเอาผิดผู้ผลิตและจำหน่ายการใช้หีบห่อแท้แต่บรรจุผลิตภัณฑ์ปลอมแปลง โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2556

ปัจจุบันปัญหาการนำผลิตภัณฑ์ด้อยคุณภาพมาบรรจุในหีบห่อของแท้ และนำมาขายเร่ ขายตามตลาดนัด หรือแหล่งชุมชน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สินค้าที่พบการปลอมปน เหล่านี้ มีหลายประเภท เช่น เหล้า ซีอิ๊ว แชมพู ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำหอม สบู่ กาแฟ เครื่องสำอางฯลฯ ซึ่งมีขายทั้งแบบเติมหรือแบบรีฟิวและบรรจุหีบห่อ ขายในราคาค่อนข้างถูก

แล้วอย่างนี้ผู้บริโภคเราจะทราบได้อย่างไร จะป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของสินค้าปลอม เพราะมีการใช้กล่องบรรจุ ของจริงแต่ข้างในของปลอม

ควรดูแหล่งที่ซื้อ และราคาขาย เพราะจากข้อมูลของการตรวจจับพบว่า ส่วนใหญ่ จะมีการขายในตลาดนัด รถเร่ แผงลอย และมักเป็นการขายที่มีราคาค่อนข้างถูกกว่า ราคาปกติที่เคยซื้อ  ซี่งวิธีนี้ก็อาจต้องดูรายละเอียดให้ถ้วนถี่ เพราะแม่ค้าพ่อค้าจำนวนไม่น้อยที่ขายของจริง ในตลาดนัด ก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย   อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่มักสงสัยว่าเป็นของปลอม หลังจากซื้อไปใช้แล้ว ดังนั้นวิธีแก้ไขและป้องกันไม่ให้มีการขายแบบนี้ ก็คือการแจ้งความ หรือการร้องเรียน เพราะหากผู้บริโภคไม่ร้องเรียน หรือไม่แจ้ง ก็อาจเป็นการยากที่จะเข้ามาตรวจสอบและดำเนินคดี

ใครจะมีบทบาทและหน้าที่ตรวจสอบบ้าง ก็จะมี คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สำหรับบ้านเราก็แจ้งที่ศาลากลางทุกจังหวัด), พาณิชย์จังหวัด, สาธารณสุขจังหวัด, องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต.หรือเทศบาล รวมทั้งตำรวจ และองค์กรผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งสื่อมวลชน

เจ้าของตลาดนัด ควรหมั่นตรวจตราพ่อค้าแม่ค้า และควรมีการทำบัญชี พ่อค้าแม่ค้าไว้ เพราะส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่หมุนเวียนมาขาย หากพบต้องสงสัย ควรแจ้ง เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ

นอกจากของปลอม ของเลียนแบบ ของเหมือน ของคล้าย ก็มีจำนวนมากในตลาด ทั้งที่วางขายทั่วไปและขายในระบบออนไลน์ เว๊บไซต์ต่างๆ รวมถึงการขายเร่ หรือการขายแบบเลหลัง ลดราคา ลดแหลก ทำนองนี้  โดยเฉพาะในจังหวัดภาคเหนือ เราจะพบสินค้า มากมายที่มาจากชายแดน ก็จะพบสินค้าที่ไม่มีฉลากภาษาไทยขายไปทั่ว และได้รับความนิยมมากสำหรับเป็นของฝากด้วย ดังนั้นผู้บริโภคอย่างเราๆ พึงระวังสินค้าเหล่านี้ เนื่องจากไม่มีหลักประกันถึงความปลอดภัย

การเลือกซื้อของในร้านค้าที่เชื่อถือได้ เช่น ร้านประจำใกล้บ้าน ห้างสรรพสินค้า หรือหากเป็นตลาดนัดก็ควรตรวจสอบ ความเก่าใหม่ ฝาบรรจุ หรือข้อสังเกตราคาที่ขาย การวางขายอย่างไม่ดูดำดูดี เหมือนไม่เสียดายของ วางกลางแดดจ้า ฉลากเก่าซีดก็ไม่สนใจ แต่ข้อสังเกตเหล่านี้ก็อาจไม่ใช่ข้อสรุป เพราะเล่ห์เหลี่ยมกลยุทธ์การขายของกลุ่มสินค้าของปลอมเหล่านี้ บางทีคนนั่งขาย ก็อาจไม่ทราบว่าตนเองขายของปลอม

หากพลาดท่าซื้อไปแล้ว พบความผิดปกติ น่าสงสัย อย่าเก็บไว้คนเดียวต้องร้องเรียนหรือแจ้งความ เจ้าของตลาดก็ต้องช่วยกันสอดส่อง สำหรับพ่อค้าผู้รับซื้อต่อเป็นช่วงๆ ก็ควรระมัดระวัง อย่าหวังแก่ประโยชน์ผลกำไร เพราะท่านกำลังสร้างความเสี่ยงให้กับผู้บริโภค เพราะจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่แต่ละครั้ง เมื่อส่งสินค้าปลอมไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ จะพบว่าไม่มีคุณภาพ และมีการใช้สารเคมีอันตราย

นอกจากสินค้าปลอมแล้ว ยังมีปัญหาปลอมเครื่องหมาย อย. ปลอมเครื่องหมาย ฮาลาล หรือเลขทะเบียนยาปลอม

หากเป็นสินค้าที่ เรากิน เราดื่ม หรือใช้กับร่ายกาย ไม่ว่าสินค้าปลอมหรือสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ยิ่งหากเป็นกลุ่มยา ยิ่งเป็นอันตราย 

ของปลอมน่าสงสัย ของเลียนแบบมีมากมาย หากเราสังเกตเพิ่มเติมสักนิด ก็พอจะป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของปลอมอันตราย

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของรัฐ ควรมีนโยบายชัดเจนและกำกับการใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เฝ้าระวังสินค้าที่อันตราย และการดำเินินรวดเร็ว ทันสถานการณ์

©สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]

 

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 18 กย  55 คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7(ปรับปรุง)