เมื่อเป็นหวัดต้องใจเย็นๆ (1)

0
997

            หลักการเป็นโรคต้องรักษา  ป่วยต้องกินยา เป็นหลักการที่เราต้องนำมาวิเคราะห์ใหม่ในยุคที่พบว่า ปัญหาการใช้ยาก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา ที่จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตของเรา  ยกตัวอย่างเรื่องของการเป็นหวัด..

 

 

                  เมื่อเป็นหวัดต้องใจเย็นๆ ทำไมคิดอย่างนี้? ทำได้หรือ? แล้วจะไม่ยิ่งเป็นมากกว่าเดิมหรือ? เดี๋ยวก็ติดเชื้อเพิ่มหรอก!! ต้องรีบรักษาสิเดี๋ยวเป็นมาก??

                 หวัดหรือโรคหวัด เกิดจากเชื้อไวรัสตั้งแต่หวัดธรรมดา  จนถึงไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัด 2009 ซึ่งต้องรีบรักษา ขืนใจเย็นอยู่ละก็แย่แน่ๆ ไม่แย่เพียงตัวเรา แต่จะส่งผลกระทบต่อคนอื่นและสังคม  ดังนั้นเราต้องแยกแยะอาการ สังเกตอาการเพื่อประเมินการรักษา ด้วยการสังเกตด้วยตนเอง และรับการตรวจจากแพทย์

                   ในสหรัฐอเมริกา ปี 2546  มีการศึกษาผลกระทบของโรคหวัดต่อคน จากการศึกษาพบว่าโรคหวัดทำให้ประชากรต้องไปพบแพทย์ถึง 100 ล้านครั้งต่อปี มีผู้ป่วยถึงหนึ่งในสามได้รับยาปฏิชีวนะ ที่ทำให้เสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น อาจทำให้เกิดการดื้อยา  การศึกษายังพบว่าชาวอเมริกันเสียเงินซื้อยาที่ร้านขายยา และยาปฏิชีวนะซึ่งไม่มีผลใดๆ กับเชื้อไวรัสไข้หวัดเลยจำนวนรวมถึงหลายแสนล้านบาท และมีรายงานว่า ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ โดยเด็กขาดเรียนรวมกันถึง 189 ล้านวันเนื่องจากโรคหวัด ทำให้พ่อแม่ของเด็กต้องลางานรวมกันถึง 126 ล้านวันเพื่อดูแลลูก รวมลูกจ้างที่ลางานเนื่องจากเป็นหวัด ส่งผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 8 แสนล้านบาท

ลองมาดูในครอบครัวของเรา เมื่อใครสักคนเป็นหวัดขึ้นมา เรามีการดูแลรักษาและส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

หากเรารีบร้อน ตกใจ คิดว่าต้องรับกินยา ต้องรีบสกัดโรคไม่ให้เป็นมาก ต้องรีบหายเพราะต้องเรียนต้องทำงาน ด้วยเหตุผลเหล่านี้ เมื่อเราซื้อยามากิน เรากินยากลุ่มไหนบ้าง ลองมาดูกันว่ายาเหล่านั้นจำเป็นหรือไม่ และเมื่อเราเป็นหวัดแล้ว เราป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อต่อคนอื่นอย่างไร

โรคหวัด หรือไข้หวัด เป็นอาการของโรคเยื่อจมูกและลำคออักเสบเฉียบพลัน  เรียกโดยทั่วไปว่าเป็นโรคติดต่อจากการติดเชื้อไวรัส ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน คือ จมูกและคอ อาการของโรคมีหลายอาการ คือ จาม คัดจมูก เยื่อจมูกอาจจะบวมและแดง ถ้าเชื้อไวรัสติดเชื้อไปที่จมูก จะมีน้ำมูกมากกว่าปกติ แต่ถ้าติดเชื้อที่คอ จะมีอาการเจ็บคอ คอแหบแห้ง หรือมีเสมหะสะสมอยู่บริเวณลำคอ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งที่คอและจมูก นอกจากนี้อาจมีอาการไอ ปวดศีรษะ และเหนื่อยง่าย

                 ไข้หวัดมักจะมีระยะโรคอยู่ที่ประมาณสามถึงห้าวัน หรืออาจร่วมด้วยอาการไอต่อเนื่องถึงสามสัปดาห์ ดังนั้นหากใครที่เริ่มเป็นหวัด และกินยาทันที ลองมาดูข้อมูลที่น่าสนใจ จากคณะกรรมการอาหารและยา ที่กล่าวถึงปัญหาการใช้ยาในโรคหวัด ไว้อย่างน่าสนใจ คือ

              กลุ่มยาลดไข้ แก้ปวด เช่น พาราเซตามอล กินเฉพาะเมื่อเป็นไข้หรือปวดหัว ถ้าไม่มีไข้    ไม่ปวดหัว ไม่ต้องกิน ห้ามใช้แอสไพรินในเด็กที่เป็นไข้หวัดอย่างเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอาการ แทรกซ้อนที่รุนแรง

                  กลุ่มยาแก้คัดจมูก ถ้าไม่คัดจมูก ไม่ต้องกิน  ถ้ามีน้ำมูกหรือน้ำมูกไหล ควรเช็ดหรือล้างรูจมูกด้วยน้ำสะอาด ไม่ควรกินยาแก้แพ้เพื่อลดน้ำมูก เพราะจะทำให้น้ำมูกหรือเสมหะข้นเหนียวสั่งออกยาก ทำให้หายใจลำบากมากขึ้น

               กลุ่มยาปฏิชีวนะ ที่มักเรียกผิดว่าเป็นยาแก้อักเสบ ยาปฏิชีวนะเป็นยาอันตราย    และมักมีการใช้อย่างผิดๆ โดยเฉพาะในโรคหวัดเจ็บคอ ยากลุ่มนี้ เช่น เพนนิซิลลิน

              เอ่ยชื่อกลุ่มยาปฏิชีวนะหลายคนอาจไม่คุ้นเคย แต่หากใช้คำว่า ยาแก้อักเสบ ต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี นี่แหละคือปัญหา เพราะนอกจากเรียกกลุ่มยาผิด ใช้ยาผิดแล้ว เข้าใจผิด รักษาโรคหวัดผิด ยังทำให้เสียค่าใช้จ่าย และทำให้เชื้อดื้อยา เป็นการรักษาแบบผิดผิด

                    ในเมื่อเรื่องนี้เป็นปัญหาของเรา เราควรทำความเข้าใจร่วมกัน และหาทางแก้ไข อย่างน้อยเริ่มต้นที่ เมื่อเป็นหวัด ต้องใจเย็นๆ อย่าด่วนกินยา  และเมื่อไม่กินยา ควรมีความรู้และมีวินัยปฏิบัติว่าจะดูแลตนเองเมื่อเป็นหวัด แม้ว่าเรื่องหวัดเป็นเรื่องง่ายๆใครๆก็รู้ใครๆก็เป็น แต่เรื่องง่ายๆนี้กลับเป็นเรื่องยาก เมื่อเราใช้ยาไม่ถูกต้อง มีทัศนคติไม่ถูกต้องในการใช้ยา

บทความโดย สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่ ๒๖ เมษายน  ๒๕๕๔ หน้า  ๗

อ้างอิง

http://newsser.fda.moph.go.th/rumthai/userfiledownload/asu136dl.pdf

http://th.wikipedia.org