รู้เท่าทันประกันภัย

0
1928

มีโฆษณาขายประกันอยู่ทุกหนทุกแห่ง ใกล้ตัวที่สุดอาจเป็นภายในบ้านของเราเอง ที่คนในครอบครัวมีอาชีพเป็นนายหน้าขายประกัน

ซึ่งการประกันภัยในปัจจุบัน มีรูปแบบการโฆษณาโดยพรีเซนเตอร์ที่มีชื่อเสียง รูปแบบชักชวนขายประกันโดยใช้การโทรศัพท์  รูปแบบการใช้ระบบออนไลน์ หลายคนต้องกดโทรศัพท์ไม่รับสาย เมื่อต้องเผชิญกับการโทรมาบ่อยครั้งของนายหน้าขายประกัน 

                สำหรับบ้านเรา มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำประกันภัย  หลายฉบับ คือ  กฎหมายประกันภัย , การประกันชีวิต ,การประกันวินาศภัย, การประกันรถยนต์ และ พระราชบญญัติ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย 

ยังมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค  ที่กล่าวถึงสิทธิผู้บริโภคว่าต้องได้รับความเป็นธรรมใน สัญญา รวมถึง   พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา ซึ่ง การทำประกันภัยนับเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา

แม้ว่าจะมีหน่วยงาน กำกับดูแล คือ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย  หรือเรียกย่อว่า  คปภ. แต่ผู้เอาประกัน กลับมักจะร้องเรียนกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  จากความเสียหายไม่ได้รับเป็นธรรมจากการทำประกัน หรือถูกหลอกถูกโกง

สำหรับการประกันภัยที่สังคมให้ความสนใจมากขึ้น คือการประกันวินาศภัย ซึ่งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.สั่งให้บริษัทส่งเสริมประกันภัย หยุดขายประกันวินาศภัย ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม2555 เป็นต้นไป

เนื่องจากตรวจสอบพบข้อบกพร่อง เช่น ไม่มีระบบควบคุมการจำหน่าย ไม่มีระบบตรวจสอบยืนยันกรมธรรม์ประกันภัยที่จำหน่าย และเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ถูกต้อง ไม่มีบันทึกสมุดบัญชีและทะเบียนให้เป็นไปตามข้อตกลงของกฎหมาย ซึ่งอาจกระทบต่อการตรวจสอบฐานะทางการเงินที่แท้จริง และขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้นจึงมีประกาศให้หยุดการขายเพื่อให้บริษัทปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องตามกฎหมายกำหนด ส่วนประชาชนที่ซื้อกรมธรรม์จากบริษัทนี้ ยังคงได้รับสิทธิการคุ้มครองตามเงื่อนไขในสัญญาทุกประการ

ซึ่งเป็นไปตามการใช้ พรบ.การประกันวินาศภัย  ที่ได้ให้นิยาม “วินาศภัย” ว่าหมายถึง ความเสียหายอยางใด ๆ บรรดาที่จะพึงประมาณเปนเงินได้ และหมายความรวมถึงความสูญเสียในสิทธิผลประโยชนหรือรายได้  ซึ่งบริษัทที่จะทำการขายประกันวินาศภัยได้ ต้องเป็น บริษัทมหาชนจํากัดที่ไดรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามพระราชบัญญัติและหมายความรวมถึงสาขาของบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยภายในราชอาณาจักร

                การทำประกันภัย เป็นการจ่ายเงินของผู้เอาประกัน โดยมีการทำสัญญา เป็นกรมธรรม์ ที่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นการทำสัญญาเพื่อทำประกันภัยทุกครั้งต้องทำความเข้าใจ ตกลงในรายละเอียดให้ชัดเจนว่า ครอบคลุมเรื่องใดบ้าง แต่ละเรื่องนั้น มีการจ่ายเงินแตกต่างอย่างไร มีสิทธิประโยชน์แตกต่างอย่างไร มีเงื่อนไข ข้อตกลงใดบ้างที่เป็นตัวแปรที่อาจทำให้สับสน หรือเข้าใจไม่ตรงกัน

ควรระวัง การชักชวน การตกปากรับคำของนายหน้าขายประกัน เพราะก็อาจเป็นเพียงคำพูด เมื่อถึงเวลาลงนามในสัญญา อาจไม่เป็นตามที่พูด เนื่องจากสัญญาประกันภัย เป็นสัญญาสำเร็จรูป ที่มีข้อกำหนดชัดเจนตามกฎหมาย ไม่สามารถปรับรายละเอียดเล็กน้อย ตามคำพูดได้  เพียงก่อนลงนาม ต้องอ่านให้รอบคอบ

ที่น่าเป็นห่วงคือถึงแม้จะพูดกันเสมอว่า ก่อนลงนามสัญญาให้อ่านก่อนก็จริง แต่เมื่อจะลงนามจริงๆ กลับแทบไม่มีคนอ่านเลย ทั้งไม่มีเวลา ทั้งพนักงานเร่งเร้า ทั้งเราคิดว่าหยวนๆ ก็พูดกันแล้ว ไม่น่ามีอะไร ดังนั้น เราจึงมักลงนาม ตามที่พนักงานทำเครื่องหมายกาไว้ให้ หรือชี้นิ้วให้เซ็นต์เป็นจุดๆไป

ประกันภัยด้านสุขภาพก็ได้รับความสนใจมากในยุคนี้ มีการโฆษณาการทำประกันสุขภาพด้านมะเร็ง หรือ มีโฆษณาว่าขายประกันผู้สูงอายุ โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ วิธีการโฆษณาแบบนี้ เป็นการนำจุดอ่อนของคนไทยเรา ที่ไม่ต้องการจะทำอะไรให้ยุ่งยาก หรือคิดไปเองว่า ถ้าผลตรวจสุขภาพไม่ดี มีโรคประจำตัวหรือโรคภัยไข้เจ็บ อาจไม่ผ่านการทำประกัน หรืออาจต้องจ่ายแพงกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ การโฆษณาจึงชี้เป้า ว่า “ง่าย” “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ”

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกเงื่อนไข มีการข้อกำหนด มีกำหนดเกณฑ์ทุกกรณี แต่ละกรณีมีรายละเอียดมากมายละลานตา ว่าเงื่อนไขอย่างนั้นอย่างนี้ และในที่สุดก็จะมีจุดให้เราเลือกในราคาขั้นต่ำ ที่อาจไม่ได้ครอบคลุมดังที่เราหวัง กลยุทธ์การขายเช่นนี้ ยังรายละเอียดอื่นเช่น ชนิดของมะเร็ง

ดังนั้น ก่อนที่จะทำประกัน ไม่ว่ารูปแบบใด ให้ศึกษาให้ถ้วนถี่ ขอดูรายละเอียดเงื่อนไขให้ดี เมื่อลงนามทำสัญญา ก็ต้องตรวจสอบหลักฐานทุกอย่าง

รวมทั้งต้องรู้เท่าทันการขายประกันทางโทรศัพท์และระบบออนไลน์ด้วย แม้จะมีกฎหมายรองรับ แต่การถูกหลอกถูกโกงก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง เพื่อความมั่นใจ ควรทำประกันกับบริษัทที่มีสำนักงานตัวแทน ใกล้บ้าน ทุกอย่างต้องตรวจสอบเอกสาร 

ปัจจุบันมีการทำประกันหลายรูปแบบ มีเงื่อนไขรายละเอียดมากมาย  ก่อนทำดูเหมือนไม่ยุ่งยาก  แต่หากมีความเสียหายเกิดขึ้น มีความเป็นความตาย มีความเสียหายด้านจิตใจ การเสียโอกาส  ผลกระทบในระยะยาวที่ไม่คาดคิดมาก่อน เมื่อจะมีการชดเชย ชดใช้ ทดแทน เรียกตามสิทธิประกัน กลับมีความยุ่งยาก ทั้งด้านกฎหมาย การตีความ เหตุการณ์แวดล้อม หรือปัจจัยต่างๆ มากมาย 

ศึกษาให้ถ้วนถี่ก่อนทำประกัน ศึกษาให้ถ้วนถี่ในสัญญา รูปแบบเงื่อนไขกรมธรรม์ รู้จักหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากมีปัญหาการคุ้มครองสิทธิต่างๆ หากเรารู้เท่าทันการทำประกันภัย อย่างน้อยก็ช่วยให้มั่นใจระดับหนึ่งว่า สัญญาประกันภัยจะเป็นสัญญาที่น่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบได้ และได้รับสิทธิประโยชน์และทดแทนตามสัญญา

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]

 

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่  .24 กค55 …คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7