วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย

0
2310

“ต้านโฆษณาผิดกฎหมาย ต้านโฆษณาไร้จริยธรรม”

 ผู้บริโภค” หมายความว่า ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ และหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม

นี่เป็นคำนิยามของคำว่า “ผู้บริโภค” ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541

แต่กระนั้นผู้บริโภคจำนวนมากยังไม่ทราบว่าวันที่ 30 เมษายน ของทุกปีคือวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย ซึ่งตรงกับวัน พระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522  เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2522

นับจากปี 2522 ก็มีการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการคุ้มครองผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านสิทธิ กฎหมายและจนถึงการต่อสู้มาอย่างยาวนานเพื่อ พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

แม้ว่า จะมีการผลักดันด้านกฎหมายและกระบวนการใช้สิทธิในรูปแบบองค์การอิสระ แต่ก็มีประชาชนผู้บริโภคยังขาดความตระหนักในการใช้สิทธิ และขาดความรู้เกี่ยวกับกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการมีส่วนร่วมในการดำเนินเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

ดังนั้น จึงขอเชิญผู้บริโภคทุกท่าน หันมาสร้างความรู้ความเข้าใจในสิทธิและกฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างสรรค์สังคม  

อย่างน้อยเราควรเข้าใจถึงสิทธิของผู้ บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ประการ ตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 คือ

                  1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่ จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบ ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิด ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม 
                  2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความ สมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม 
                  3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว 
                  4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ 
                  5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว

          นอกจากนี้ ยังมีหลักการสำคัญ เพื่อให้ผู้บริโภค นำเป็นแนวทางการดูแลคุ้มครองตนเอง และเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคของเราคือ

1                     การใช้หลักการธรรมะ หรือหลักการพุทธศาสนา เพื่อการบริโภคอย่างมีสติ รู้เท่าทันกิเลส แห่งความโลภ ความหลง ความอยาก ความต้องการ ที่นอกจากทำให้เราตกเป็นเหยื่อของการเอารัดเอาเปรียบ ,ได้รับความเสี่ยงจากการบริโภคหรือใช้สินค้าไม่ปลอดภัย,ผลเสียต่อสุขภาพและการถูกหลอกถูกโกง

2                     ต้องรู้เท่าทัน คือรู้เท่าทันตนเอง รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันสังคม รู้เท่าทันโฆษณาและการตลาด

3                     สร้างสรรค์การบริโภคที่ดีต่อชีวิต แสวงหาทางเลือกที่ดี แสวงหาข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต

4                     ช่วยกันดูแลสังคม หากพบเป็นการทำผิดกฎหมายผู้บริโภค การเอารัดเอาเปรียบ การหลอกลวง ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง บอกต่อแจ้งข่าวร้องเรียน อย่านิ่งดูดาย อย่าเบื่อหน่ายปัญหา ต้องช่วยกันแก้ไข

5                     รวมพลังผู้บริโภค ตั้งแต่ในระดับชุมชนของเรา

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ในปีนี้ ได้นำบทเรียนมารวบรวมปัญหาจนได้ข้อสรุปว่า ต้องเสนอประเด็นต่อสังคมและเรียกร้องผู้บริโภครวมพลัง “ต้านโฆษณาผิดกฎหมาย ต้านโฆษณาไร้จริยธรรม” ซึ่งกำลังก่อผลกระทบอย่างมากต่อผู้บริโภค 

สุภฎารัตน์