คำถามก่อนกินยาลดความอ้วน (1)

0
916

                   โรคอ้วน ภาวะอ้วน กระจายตัวไปทั่วโลก ด้วยอิทธิพลของเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมือง  ผ่านระบบอุตสาหกรรมอาหาร เกษตรเพื่อการค้า สารเคมีเพื่อแปรรูป สารเคมีเพื่อเพิ่มเสริมแต่ง

 

 

                  การแพร่กระจายของรูปแบบอาหาร ชนิดของอาหาร ปริมาณอาหาร เวลาที่กินอาหาร ความถี่ในการกินอาหาร รวมทั้งการใช้ชีวิต การเคลื่อนไหวของร่างกาย การใช้พลังงานของร่างกาย โดยมีการโฆษณา การสร้างค่านิยม การกระตุ้นให้ชีวิตรักสบาย ง่าย สะดวก เข้าสู่ระบบสำเร็จรูป

ประเด็นหลักของภาวะอ้วนคือปัญหาสุขภาพ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า ส่งผลกระทบและก่อเกิดโรคมากมาย แต่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องและเกิดปัญหาใหม่อย่างน้อย 5 ประการ คือ

ประการแรกคือความอ้วนที่เกี่ยวกับความงาม

ประการที่สองคือตลาดของสินค้าและบริการเกี่ยวกับความงามจากความอ้วน

ประการที่สามคือ การสื่อสาร- โฆษณา ที่เกี่ยวข้องกับความอ้วน ความงาม การลดความอ้วน ผลิตภัณฑ์ ยา

ประการที่สี่คือมาตรฐานสินค้า ผลิตภัณฑ์ ยา และบริการที่เกี่ยวกับความอ้วน และความงามที่เกี่ยวกับความอ้วน

ประการสุดท้ายคือ การคุ้มครองผู้ป่วย การคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับความอ้วน ผลิตภัณฑ์ โฆษณา

รื่องความอ้วน จึงไม่ใช่แค่อ้วนไม่อ้วน ลดไม่ลด แต่มีปัจจัยทีเกี่ยวข้องมากมาย ทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับคนอ้วน ข่าวการกินยาลดอ้วนจนเสียชีวิต แม้คนในครอบครัวไม่ติดใจเอาความ แต่ที่จริงแล้วปัญหาที่เกิดส่งผลให้เกิดคำถามถึงผู้รับผิดชอบในแง่มุมต่างๆ

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญเราควรแยกระหว่างความอ้วนที่ส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งโรคอ้วนที่ส่งผลต่อสุขภาพ มักเป็นความอ้วนที่เราสามารถมองเห็นได้ชัดเจน คือ

(1)อ้วนทั้งตัว โดยมีไขมันทั้งร่างกายมากกว่าปกติ 

(2)โรคอ้วนลงพุงซึ่งมีไขมันในอวัยวะภายในช่องท้องมากกว่าปกติ และอาจจะมีไขมันใต้ผิวหนังหน้าท้อง

 (3)โรคอ้วนลงพุงร่วมกับอ้วนทั้งตัว มีไขมันมากทั้งตัวและอวัยวะภายในช่องท้อง  

 

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรเริ่มจากคำถาม ต่อตนเองก่อนที่เราจะกินยาลดอ้วน ว่า เราควรตอบตนเองในเรื่องใดก่อนที่จะตัดสินใจกินยาลดความอ้วน

คำถามแรก คือ เราอ้วนจริงหรือ ? คำถามนี้เราอาจมีคำถามย่อยอีกว่า อ้วนในความหมายด้านสุขภาพ อ้วนในความหมายของเพื่อนของแฟน อ้วนในความหมายถึงไม่สามารถใส่เสื้อผ้าไซส์เล็กๆ อ้วนเมื่อเทียบกับคนอื่น หรือบางคนอาจไม่เข้าข่ายอ้วนเลยแต่ต้องการลดน้ำหนักเพียงเพราะ อยากผอมมากๆ จะได้เสื้อผ้าตัวเล็กตามแฟชั่น แต่ไม่ว่าจะอ้วนแบบไหน จะมีอันตรายมากขึ้นเมื่อใช้การลดอ้วนที่ผิดวิธี

หากเป็นคนอ้วนที่เห็นได้ชัดเจนจากรูปร่าง ก็เป็นคำตอบว่าอ้วนแน่ๆ แต่จะอ้วนแบบไหน มีปริมาณไขมันที่ไหนมากน้อยอย่างไรในร่างกาย ควรรับการประเมินจากแพทย์เพื่อรับการรักษาและแนะนำการลดน้ำหนัก หรือควบคุมภาวะอ้วน ซึ่งในปัจจุบันมีหลายวิธี

วิธีประเมินที่นิยมคือ การหาค่าดัชนีมวลกาย (BMI-body mass index)  ซึ่งเป็นการหาค่ามาตรฐานที่เป็นเครื่องชี้บ่งว่าบุคคลอยู่ในภาวะอ้วนหรือไม่ ซึ่งเป็นการคำนวณน้ำหนักที่ยอมรับทางการแพทย์ วิธีคำนวนคือ

                                ดัชนีมวลร่างกาย(BMI)= น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม
                                                                      (ส่วนสูงเป็นเมตร) 

จากนั้นนำค่าดัชนีมวลร่างกาย มาเทียบผลดังนี้   หากต่ำกว่า 20 หมายความว่า น้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน, 20.0-24.9 หมายความว่า น้ำหนักปกติ, 25.0-29.9 หมายความว่า น้ำหนักเกิน,   30.0-39.9 หมายความว่า โรคอ้วนและมากกว่า 40 หมายความว่า โรคอ้วนรุนแรง  แต่การคำนวณวิธีนี้ ไม่ควรใช้กับเด็กที่กำลังเจริญเติบโต สตรีมีครรภ์ และนักกีฬา แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเด็กที่กำลังเติบโตกำลังมีปัญหาโรคอ้วน ซึ่งสามารถมองเห็นจากรูปร่างได้ชัดเจน รวมถึงสตรีมีครรภ์ ซึ่งปัจจุบัน มีแนวคิดใหม่ว่า การกินเผื่อลูกต้องกินให้ถูกวิธี เพราะจะเกิดการอ้วนสะสมมาก

 

นอกจากนี้ยังมีการประเมินภาวะอ้วนอื่นๆ เช่น การวัดรอบเอว วัดความหนาของไขมันชั้นใต้ผิวหนัง อาจจะวัดที่ท้องแขน หรือการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีในสถานบริการหรือคลินิกควบคุมน้ำหนัก ซึ่งกรณีนี้ต้องตรวจสอบมาตรฐานสถานบริการด้วย

วิธีที่ทำได้ง่าย คือ จากรูปร่างอ้วนที่ชัดเจน จากการใช้ดรรชนีมวลกายและการวัดรอบเอว ส่วนวิธีการอื่น หากสนใจหรือต้องการรับการรักษาภาวะอ้วน ควรเข้ารับบริการตรวจจากโรงพยาบาล

                เมื่อตรวจแล้ว เราก็จะตอบคำถามได้ว่า เราอ้วนหรือไม่ จากสภาวะของร่างกาย หากเราตรวจแล้ว ไม่พบภาวะอ้วน แต่เรายังรู้สึกว่าตนเองอ้วน หรืออยากผอมกว่าที่เป็นอยู่ ควรระวัง การผอมเกินไป ซึ่งก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยเฉพาะวัยรุ่นที่กำลังเติบโต ส่วนการอ้วนเทียมหรืออ้วนเพราะคิดว่าอยากผอม อยากใส่เสื้อผ้าตัวเล็ก ก็ควรระวังค่านิยมแบบนี้ เพราะจะทำให้เราอาจตกเป็นเหยื่อของการลดน้ำหนักที่ผิดๆ 

บทความโดย สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่.๒๔ พฤษภาคม  ๒๕๕๔ หน้า  ๗

อ้างอิง

http://www.siamhealth.net/public_html/Disease/endocrine/obesity/cause.htm