แกะสังฆทานถังเหลือง “เปลืองเปล่า จริงหรือ?”

0
1966

การเตรียมเครื่องสักการะ ข้าวของทำบุญ เครื่องดำหัว เป็นจารีตที่สำคัญของสงกรานต์ นอกจากการเตรียมหรือการดาครัวตามแบบประเพณีเราแล้ว การซื้อการเลือกของทำบุญก็ต้องอาศัยหลักการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

เรามาแกะสังฆทานถังเหลืองว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กบราคาและคุณภาพแต่ในที่นี้กล่าวถึงเหลืองทั่วไปที่เราพบเห็นการขาย การหิ้วไปทำบุญ โดยทั่วไป เอามาแกะดูกันว่า มีอะไรบ้าง ใช้ประโยชน์ได้หรือไม่

๑       ลักษณะการใส่ถัง หุ้มด้วยพลาสติกสีเหลือง หากจัดทำไว้นาน จะมีปัญหาการกลิ่นปนกัน เช่น น้ำดื่มมีกลิ่นผงซักฟอก

๒       สิ่งของที่อยู่ในสังฆทาน เช่น

น้ำส้ม น้ำขวดสีส้ม สีแดง(ราคาขาย ขวดละ ๓-๕ บาท) เป็นน้ำตาลใส่สีงเคราะห์ แต่งรสสังเคราะห์ นิยมใส่ถังเหลือง ใส่ชุดตักบาตร ใส่ชุดดำหัว แต่ไม่นิยมซื้อมาดื่มเอง

ชาหรือเครื่องดื่มแบบชง จะบรรจุในกล่องค่อนข้างใหญ่ เวลาใส่ในถังเหลืองจะทำให้ดูเหมือนของเต็มถัง แต่ความเป็นจริง เปิดดูในกล่องจะมีเพียงซองซิปเล็กๆ ๑ ซองเท่านั้น หน้ากล่องบอกปริมาณว่า ๒๒ กรัม( ๑ ขีดมี ๑๐๐๐กรัม)

กระดาษทิชชู ก็มักจะเป็นกระดาษแบบหยาบๆสากๆ แปรงสีฟัน จะเป็นแบบแข็งๆ  กล่องใส่สบู่ มีดโกน ผงซักฟอก น้ำดื่ม บะหมี่สำเร็จรูป ฯลฯ

ของที่พระหรือเณร จะใช้เช่น ผ้าอาบน้ำฝน ,ผ้าเช็ดหน้า,ผ้าขนหนู ,ร่ม ซึ่งของเหล่านี้ มักมีคุณภาพด้อยกว่า ที่เราเลือกซื้อมาใช้เอง เช่น ผ้าจะบางๆ ,ผืนเล็กๆ,ร่มคันเล็กๆ

ส่วนข้าวของอื่น ซึ่งหากไปใช้ประโยชน์ จะพบว่ามีปัญหา คือ ไม่มีประโยชน์และอาจส่งเสียต่อร่างกายหากพระหรือเณรฉัน (น้ำส้ม), เข้าข่ายหลอกลวง(ชา ๑ซองในกล่องใหญ่),ไม่มีการนำไปใช้ หรือเอาไปกองรวมกันโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น กล่องใส่สบู่

๓       อาจพบของไม่มีฉลาก, ของหมดอายุ หรือของใกล้หมดอายุ ของไม่มีคุณภาพ เช่น นมกล่อง,นมข้น,ถังเหลืองก็จะเป็นถังที่มีลักษณะบางๆ เอาไปปลูกต้นไม้ ใส่ขยะ

นอกจากนี้ ถ้าเราแกะแล้ว ลองมาเทียบราคาจริงดู รวมกันทั้งถังแล้ว เราจะพบว่า ราคานั้นไม่คุ้มค่าจริงๆ เช่น ถังเหลืองราคา ๑๕๙ คิดราคาแยกเป็นชิ้นรวมทั้งถัง อาจประมาณ ๙๐-๑๒๐บาท เอาล่ะไม่ว่ากัน กำไรจากการจัด แต่เมื่อคิดแยกว่า อะไรใช้ได้ คิดเป็นราคารวมเท่าใด อะไรที่ใช้ไม่ได้คิดราคารวมเท่าใด ก็ยิ่งจะเห็นว่าไม่คุ้มค่า

ที่นี้ลองมาแกะชุดดำหัวสำเร็จ ที่ขายเป็นชุดๆ แม้ว่าราคาไม่แพง แต่ก็มาดูนะคะว่ามีอะไรบ้าง

๑ น้ำส้ม รสต่างๆ  ก็คือแบบเดียวกับที่ใส่สังฆทาน(และถ้าเป็นเรา เราก็ไม่ซื้อมากิน)

๒ กระดาษทิชชู ขนมซอง (เช่นขนมปัง ขนมฝรั่งต่างๆ) นม บะหมี่ ส่วนมากก็คล้ายๆกัน

ถามว่าพ่ออุ้ยแม่อุ้ยที่ได้รับไป จะยินดีไหม ก็คิดว่า แค่เราไปดำหัวท่าน ท่านก็ยินดีแล้ว ไม่ต้องดูข้าวของอะไร แต่คำถามคือ ถ้าเราใส่ใจเลือกเอง นอกจากท่านจะยินดีแล้วที่เราไปดำหัวแล้ว ท่านก็จะนำของดำหัวไปใช้ประโยชน์ได้ก็น่าจะดีมากกว่าของที่ไม่มีประโยชน์ในชุดดำหัว ที่แม้จะเอาไปให้ลูกหลานหรือคนอื่นก็ไม่ค่อยจะเหมาะ คนรับก็รับไป คนให้ก็รู้ว่า ของไม่ค่อยมีคุณภาพ

และที่สำคัญพ่ออุ้ยแม่อุ้ยที่เราไปดำหัว ท่านก็อายุมากแล้ว เราควรใส่ใจเลือกของดำหัวตามแบบล้านนาหรือเลือกข้าวของที่ท่านจะใช้ประโยชน์ หรือหากท่านมีเยอะแล้วไม่ได้ใช้ เอง เอาไปให้คนอื่นก็เป็นทำบุญอีกทอด 

ไม่ว่าถังเหลืองที่มีฉลากหรือไม่มี อาจพบความไม่คุ้มค่าทั้งแง่ของราคาและการทำบุญ หิ้วถังเหลืองไปวัด หวังได้บุญอาจได้บาป

กลับมาฟี้นฟูการดาครัวไปทำบุญแบบบ้านเรา แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เราก็ปรับประยุกต์ได้ ตามความเหมาะสม เป็นผู้บริโภคต้องฉลาดเลือก ฉลาดทำบุญ

เนื่องในวาระปี๋ใหม่มาถึงแล้ว ข้าเจ้าขออวยพรให้ท่านผู้อ่าน มีความสุขความเจริญ ปี่เก่าผ่านไป เลือกจดจำ สานต่อเฉพาะเรื่องดีดี  ปี๋ใหม่มาถึง เพิ่มความขยัน อดทน ดูแลสุขภาพ ยึดหลักศาสนามานำทางชีวิต ขอหื้อกุ้มกิ๋น กุ้มอยู่ กุ้มตาน ทุกๆท่านเจ้า

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่  10 เมษายน 55.คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7