Home เรื่องราว ด้วยความปรารถนาดี เศษสิ่งของ แมลงสาบในอาหาร

เศษสิ่งของ แมลงสาบในอาหาร

0

เมื่อรับประทานอาหารที่เราไม่ได้ทำเองทั้งในร้านอาหาร ในอาหารกล่อง อาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว พิซซ่า เบอร์เกอร์ ของหวาน ขนมและเครื่องดื่ม มีโอกาสที่เราจะเจอะเจอสิ่งของปนเปื้อน
เช่น เศษวัสดุ สิ่งของ เส้นผม สัตว์เล็ก หนอน แมลงสาบ และอื่นๆที่ชวนขยะแขยงและอันตราย ล้วนเป็นประสบการณ์ที่อยู่ความทรงจำไม่รู้ลืมเลยทีเดียว

การหาทางออกของผู้บริโภค มีหลายรูปแบบ เช่น การร้องเรียนโดยตรง เรียกเจ้าของร้านมาดู ร้องเรียนต่อสื่อมวลชน หรือ ร้องเรียนหน่วยงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และมาถึงยุคที่มีการนำภาพมาโพสต์ในออนไลน์ รูปแบบวิธีการเหล่านี้ มีทั้งได้ผลและไม่ได้ผล มีทั้งได้ผล ณ จุดเกิดเหตุ แต่อาจไม่มีผลถึงมาตรการที่ร้านหรือผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบดำเนินการ

ในทางกฎหมาย การมีสิ่งของปนเปื้อนในอาหาร ทั้งกลุ่มสารเคมี กลุ่มเชื้อโรค และสิ่งของ ต่าง ๆล้วนถือว่าผิดกฎหมาย ตาม พรบ.อาหาร และ พรบ. คุ้มครองผู้บริโภค สำหรับวันนี้เรามากล่าวถึงประเด็นของเศษสิ่งของและสัตว์ แมลง ที่มักพบบ่อย  เราควรทำอย่างไร

กรณีที่รับประทานต่อหน้า เช่น ในร้านอาหาร ก่อนอื่น ควรสำรวจหน้าตาอาหารก่อน หากพบเห็นสิ่งปนเปื้อนแต่แรก ให้เรียกพนักงานเพื่อขอพบผู้จัดการร้าน หรือเจ้าของร้าน ที่ตัดสินใจได้ และควรรับรู้ปัญหาของร้าน การเจรจาจะอยู่ที่การตกลงกัน เช่น เราไม่รับเปลี่ยนหรือจัดให้ใหม่ หากชำระเงินก่อน ขอเงินคืน หรือยังไม่ชำระเงิน ขอปฏิเสธการรับเปลี่ยนใหม่ แต่ที่สำคัญ ไม่ว่าการตัดสินใจส่วนตัวจะเป็นอย่างไร ควรขอรับทราบการแก้ไขโดยรวมของร้าน จากนั้น ขอให้ท่าน ส่งเรื่อง ไปที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ของท่าน หรือองค์กรผู้บริโภค เพื่อประสานงานการตรวจสอบต่อไป เพราะการช่วยกันเฝ้าระวังตรงนี้ จะช่วยให้การบริการอาหารไม่ว่ารูปแบบใด ต้องมีมาตรฐาน ความสะอาด และความปลอดภัย

 

กรณีที่นำมารับประทานที่บ้าน จะมีหลายรูปแบบ เช่น อาหารสำเร็จรูป, อาหารกล่อง , อาหารสุกใส่ถุง, อาหารฟาสฟู๊ดส่งถึงบ้าน  เครื่องดื่มแบบกล่อง แบบขวด ฯลฯ หากพบเห็น ให้ถ่ายภาพ แสดงวันเดือนปีที่ถ่ายภาพ จากนั้น ส่งเรื่องร้องเรียนไป 1556  สายด่วน อย. (ครั้งละ 3 บาท) หรือ ผ่านทางเว็บไซต์ของ อย. และของ สคบ. ที่จะมีช่องทางร้องเรียน ก็กรอกข้อมูลตามที่กำหนด และหากเป็นเวลาราชการ ให้โทรร้องเรียน หรือไปร้องเรียนด้วยตนเองสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด หรือร้องเรียนองค์กรผู้บริโภค ซึ่งก็จะมีการตรวจสอบ และการดำเนินกระบวนการร้องเรียน เช่น เราร้องเรียนเพื่อให้มีการแก้ไข หรือต้องการชดเชยความเสียหาย  แต่ไม่ว่า ผู้ร้องเรียนจะร้องเรียนประเด็นใด การดำเนินงานต่อของ อย. หรือ สสจ. ก็จะมีการตรวจสอบ หรือให้เก็บสินค้าที่พบปัญหา ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ และต่อเนื่องถึงการตรวจแหล่งผลิตอาหาร หรือตรวจโรงงาน

การร้องเรียนตาม อัธยาศัย เช่น การร้องเรียนต่อสื่อ การโพสต์ภาพ ในออนไลน์ เรื่องนี้ สามารถทำได้  เช่น ตัวอย่างของ ห้างดังในเชียงใหม่ ที่เจอแมลงสาบ  และมีการแก้ไข แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะโพสต์  ควรแจ้งหรือร้องเรียนต่อเจ้าของด้วย และดูว่า เขามีจัดการปัญหาอย่างไร

เรื่องสำคัญคือ การรับผิดชอบของผู้ประกอบการ ต่อ คุณภาพ มาตรฐาน ของอาหาร ที่จำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นอาหารข้างทาง ในตลาด หรือที่ไหนๆ ต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภค

 

©สุภฎารัตน์