รู้ทันโซเดียม อันตรายประจำวัน

0
1895

โซเดียมสูงไม่ใช่แค่เค็ม แต่โซเดียมมีมากกว่าความเค็ม การรู้เท่าทันโซเดียมจึงเป็นสิ่งสำคัญ

โรคไต หมายถึง โรคที่มีความผิดปกติที่บริเวณไต สาเหตุสำคัญ สาเหตุหนึ่ง คือการได้รับเกลือหรือโซเดียมในปริมาณสูง
โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ที่เชื่อมโยงอาการโรคไต เช่นเบาหวาน ,ความดันโลหิตสูง  ความเสี่ยงจะมากขึ้นจากการกินเค็ม หรือกินอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียม 

โซเดียม เป็นสารอาหารประเภทเกลือแร่ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ช่วยควบคุมความดันกระแสเลือด การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท ช่วยรักษาสมดุลของของเหลวที่อยู่ภายในร่างกาย

นอกจากเกลือแกงแล้ว ยังมีเกลือโซเดียมของวัตถุเจือปนอาหาร  ที่เราคุ้นเคยเช่น   โมโนโซเดียมกลูตาเมต (ผงชูรส) โซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงฟู) ส่วนกลุ่ม โซเดียมเบนโซเอต, โซเดียมไนเตรต, โซเดียมซิเตรต มักใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร หรือการแปรรูป ปรุงแต่งอาหาร และการถนอมอาหาร

อาหารที่มีเกลือ หรือกลุ่มโซเดียมเป็นส่วนประกอบ  ในอาหารประจำวันของเรา  เช่น  กลุ่มเครื่องปรุง สารพัดชนิด กลุ่มอาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูป ผลไม้แปรรูป กลุ่มขนมกรุบกรอบ ขนมปัง เบเกอรี่ ขนมหรืออาหารว่าง อาหารกึ่งสำเร็จ อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง อาหารอบ อาหารย่าง

            ยิ่งเรารับประทานอาหารกลุ่มนี้มากเท่าใด เราก็มีความเสี่ยงมากเท่านั้น ด้วยเหตุว่า การควบคุมปริมาณเกลือจากกลุ่มอาหารหรือขนม ทำได้ยากยิ่งนักในชีวิตประจำวันของเรา แม้ว่าจะมีฉลากช่วยให้เราเห็นข้อมูลปริมาณของเกลือหรือโซเดียม แต่เมื่อมีการปรุงรส มีการใส่ในอาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมรับประทาน และขนมกรุบกรอบ ก็ยากที่จะกำหนดปริมาณได้

นอกจากการขับเคลื่อนของเครือข่ายผู้บริโภคในการผลักดันมาตรการและกฎหมายแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ การเตือนภัยให้ผู้บริโภค ว่า จะมีวิธีเตือนภัยอันตรายประจำวันนี้อย่างไรให้ได้ผล

เมื่อกฎหมาย นโยบายและการรณรงค์ให้ความรู้ อาจยังไม่ได้เข้มแข็งพอ ปัจจัยที่สำคัญคือ  ตัวของผู้บริโภค ที่ต้องคุ้มครองตนเอง อย่างเข้มแข็ง มุ่งมั่น ตั้งใจ ไม่ประมาท

เราลองมาดูตัวอย่างปริมาณเกลือ หรือโซเดียม ในอาหารและขนม   เช่น

น้ำปลา 1 ช้อนชา (5กรัม) มีปริมาณโซเดียม 400 มิลลิกรัม

ซุปก้อน 1 ก้อนมีปริมาณโซเดียม 2,640 มิลลิกรัม เทียบเท่าน้ำปลา 6.5 ช้อนชา

ไส้กรอกหมู 2 ชิ้น มีปริมาณโซเดียม 204 มิลลิกรัม เทียบเท่าน้ำปลา 0.5 ช้อนชา

ผงปรุงรส 1 ช้อนชา มีปริมาณโซเดียม 815 มิลลิกรัม เทียบเท่าน้ำปลา 2 ช้อนชา

เกลือ 1 ช้อนชา มีปริมาณโซเดียม 2,000 มิลลิกรัม เทียบเท่าน้ำปลา 5 ช้อนชา

มันฝรั่งทอดกรอบ 30 กรัม มีปริมาณโซเดียม 140-200 มิลลิกรัม เทียบเท่าน้ำปลา 0.5 ช้อนชา

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับ 1 ซอง มีปริมาณโซเดียม 1,500 มิลลิกรัม เทียบเท่าน้ำปลา 4 ช้อนชา

ซอสหอยนางรม 1 ช้อนชา มีปริมาณโซเดียม 140-173 มิลลิกรัม เทียบเท่าน้ำปลา 0.5 ช้อนชา

การกินอาหารและขนม ในชีวิตประจำวันของเราจึงมีความเสี่ยง ยิ่งหากเราพึ่งอาหารนอกบ้าน ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยง  เช่น สำเร็จรูป ,อาหารร้าน, อาหารปรุงสุก,อาหารจานด่วน,อาหารแช่แข็ง ,ขนมกรุบกรอบ ,อาหารแปรรูปต่างๆ 

ทางเลือกของเรา ต้องหมั่นสำรวจ ชนิดอาหารและขนมของตนเอง ,ทำอาหารรับประทานเองเป็นหลัก,ลดการรับประทานอาหารสำเร็จรูป หรือควรจำกัดปริมาณ อย่ากินบ่อย กินมาก กินซ้ำๆ

รู้ทันความเค็ม รู้ทันโซเดียมในอาหารและขนม จะช่วยให้เราเข้าใจตนเอง อย่าตามใจปากต้องรู้เท่าทันนิสัยการกินของตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคภัย 

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected],www.smileconsumer.com

 

อ้างอิง http://www.lowsaltthailand.org/article/3/