สิทธิผู้บริโภคไทย

0

สิทธิผู้บริโภค  ทุกคนที่อยู่ในไทยต้องเข้าใจ

30 เมษายนของทุกปี ตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้เป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย  สิทธิตามกฎหมายที่คนไทยต้องรู้ สิทธิตามกฎหมายที่คนทุกคนที่อยู่ในไทย ต้องรู้ ต้องเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมาย

 

ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ได้บัญญัติสิทธิของผู้ บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ประการ ดังนี้

1.      สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภครวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม

2.       สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภคและปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม

3.       สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัยมีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว

4.       สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ

5.       สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว

นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีกฎหมายรองรับ และนอกจากนี้ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับ สิทธิที่เกี่ยวข้อง ระเบียบปฏิบัติ รวมทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างๆ ร่วมกันกำกับดูแลการดำเนินงานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

แต่ความท้าทาย ที่เป็นอุปสรรค นั้นมีมากมายเหลือคณานับ เนื่องจาก สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ระบบการค้าขาย การโฆษณา การผลิตสินค้า การซื้อการขาย ที่ไม่ใช่แค่วัตถุมีมากกมายหลายช่องทาง  ดังนั้น แม้จะมีการขับเคลื่อนกฎหมาย ใหม่ๆ ให้ทันการณ์ ให้ครอบคลุม และสามารถจัดการให้ได้ผล

หากผู้บริโภคยังไม่เปิดรับข้อมูลข่าวสาร ไม่เปิดรับรู้การคุ้มครองผู้บริโภค ปล่อยตามกระแสสังคม ปล่อยให้ค่านิยมใหม่ๆ เข้ามาแทนที่แนวคิดด้านศาสนา แนวคิดตามวิธีธรรมชาติ และความเรียบง่าย  ก็ย่อมนำความเสี่ยง ความทุกข์มาสู่ตนเอง ครอบครัวและสังคม

เราทุกคนเป็นผู้บริโภค ดังนั้น หากผู้บริโภคเปิดรับ เปิดใจ เปิดความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้เป็นชีวิตธรรมดาของตนเองให้มั่นคงเข้มแข็ง พร้อมกับการอยู่ในสังคมเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด ก็ย่อมจะนำมาซึ่งความสุข ป้องกันปัญหา และใช้ชีวิตอย่างสมดุล

วันใดเกิดเรื่องได้รับความเสียหาย ถูกหลอกถูกโกง ก็ขออย่านิ่งดูดายให้ผ่านไปเพียงคำบ่น การร้องเรียน จึงเป็นหนทางแก้ไขปัญหาของตนเองและเป็นการช่วยให้ระบบคุ้มครองผู้บริโภคไทยเรา มีพลังผู้บริโภคช่วยเป็นหูเป็นตา พร้อมกับการใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

 

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

punnamjai@gmail.com,www.smileconsumer.com

 อ้างอิงwww.ocpb.go.th

ลงพิมพ์ใน นสพ.ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 19 22 เมษายน2557 หน้า 7