รู้ทันการเคลมประกัน

0
1697

การทำประกัน ถือเป็นการระบบสัญญา  ที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 พ.ร.บ. ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 และบทบัญญัติของกฎหมาย ที่ว่าด้วยสัญญาประกันภัย ในประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์

 

นอกจากกฎหมายดังกล่าว ยังมีสิทธิผู้บริโภค ว่าด้วยการทำสัญญา และ การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สิทธิการชดเชยความเสียหาย และปัจจุบัน ยังมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง กฎหมาย ประกาศ และข้อกำหนดอื่นๆ เช่น การโฆษณา เนื่องจากการทำประกัน เป็นระบบการค้าที่มีการแข่งขันสูง มีข้อกำหนดใหม่ๆ มีเงื่อนไขต่างๆมาเป็นส่วนประกอบหลายด้าน มีการโฆษณาต่างๆนาๆ รวมทั้ง มีการเปิดช่องทางการขายประกันในระบบออนไลน์ มีการใช้ฐานข้อมูลของผู้บริโภค ในการเสนอขาย และสร้างแพคเกจการขาย ที่เฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย

สังคมของเรา จึงเป็นสังคมที่มีแนวโน้มในการประกันรูปแบบต่างๆมากขึ้น ดังนั้น ผู้บริโภค จึงเป็นเป้าหมายของการทำประกัน นอกเหนือจากการกำหนดตามกฎหมายที่เป็นข้อบังคับ เราจึงต้องตื่นตัวที่จะเปิดหูเปิดตา ศึกษาหาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจ สัญญาประกันไม่ว่าจะมีรายละเอียดมากเพียงใด ทุกอย่างต้องมีการกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร และเป็นสัญญาที่เป็นไปตามกฎหมาย

การทำสัญญาประกัน จึงต้องศึกษา อ่านให้เข้าใจ ตีความให้เข้าใจร่วมกัน เพราะปัญหาจะมักเกิดขึ้นเสมอ เมื่อเรามีเหตุให้ต้อง มีการเคลมประกัน

หลายท่าน ต้องเข้าสู่กระบวนการร้องเรียน การดำเนินคดี เพราะเหตุจากการเคลมประกันที่ไม่เป็นไปตามสัญญา หรือมีเหตุที่ตกลงกันไม่ได้ หรือบางท่าน ส่งเงินค่าเบี้ยประกันผ่านพนักงานขาย แต่บริษัทกลับปฏิเสธการจ่าย อ้างว่าไม่ได้รับเงินค่าเบี้ยประกัน ดังนั้น ทุกขั้นตอนต้องรอบคอบ มีเอกสาร มีการตรวจสอบ มีการเก็บหลักฐาน

มีข้อแนะนำเพิ่มเติม ดังนี้

ประการแรก การแจ้งประกัน ทุกบริษัท จะมีการกำหนดไว้ ว่า รูปแบบ และช่องทางการเคลมประกัน เป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไร ต้องใช้เอกสารใด สำนักงาน หรือช่องทางติดต่อ ติดตาม เป็นอย่างไร มีการกำหนดเวลาต่อละเรื่อง อย่างไร

ประการที่สอง เนื่องจากปัจจุบัน เราใช้ การโทรศัพท์แจ้งเหตุเบื้องต้น เป็นอันดับแรก ทั้งประกัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากต้องเกี่ยวข้อง  แต่บทเรียนของผู้เอาประกันไม่น้อยที่พบว่า เจอพนักงานแต่ละครั้ง ที่ติดต่อไม่ซ้ำชื่อ หลายบริษัท มีคอลเซ็นเตอร์ ไม่สามารถตัดสินใจได้ พอส่งต่อพนักงานเคลมประกัน ก็ต้องเล่าเรื่องใหม่ ดังนั้น  ทุกครั้ง ที่ติดต่อเคลมประกัน ต้องมีการบันทึกไว้ ถามชื่อ นามสกุล ตำแหน่งของคนรับเรื่อง ต้องรู้ทันพนักงาน ถามเรื่องการติดตาม ,การส่งเอกสารเพิ่มเติม ลำดับขั้นตอนที่จะทำหลังจากได้รับการส่งเรื่อง

ประการที่สาม หากทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น ต้องรีบดำเนินการที่เห็นสมควร เช่น แจ้งความบันทึกประจำวัน, การส่งเอกสารทวงถาม, การติดต่อตรงกับสำนักงานในพื้นที่, การติดต่อสำนักงานใหญ่,การปรึกษาทางกฎหมาย หรือการร้องเรียนในฐานะผู้บริโภค

แม้เราทำประกัน แต่ก็ต้องไม่ประมาท เมื่อเกิดเหตุต้องมีการจัดการให้มีประสิทธิภาพทั้งของผู้เอาประกันและบริษัทประกัน

 

©สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์