ขวดสีส้มสีแดงสีเหลือง ใส่ซอสมะเขือเทศ ใส่ซอสพริก ใส่มายองเนส ที่เราพบเห็นทั่วไปในร้านอาหาร,รถเข็น หรือ ตลาดนัด นั้น มีความสะอาดปลอดภัยหรือไม่ ใช้ขวดชนิดไหน ใช้ซ้ำได้หรือไม่
นี่คือคำถามที่มักได้ยินเสมอ ครั้งเมื่อเรากินอาหารสไตล์ฝรั่ง ที่เรามักเติมซอสปรุงรสเหล่านี้ ลองมาดูว่า มีหลักการใดที่เราควรคำนึงถึงเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
ประการแรก ชนิดของขวด ขวดที่นำมาแบ่งซอส เป็นขวดประเภทใด ดูจากสัญญลักษณ์ของพลาสติกที่ก้นขวด กลุ่มพลาสติกที่ไม่ควรนำมาใส่ซอส คือ หมายเลข 1 หรือขวด (PET หรือ PETE) เพราะพลาสติกประเภท ขวดPETเป็นขวดที่เหมาะสำหรับใช้ครั้งเดียว ปกติ เราจะพบขวดประเภทนี้ สำหรับขวดน้ำดื่ม หรือขวดน้ำมันพืช หากนำมาใส่ซอส ซึ่งมีการซ้ำๆจะเป็นอันตราย หากเป็นขวดหมายเลข 2(HDPE)และหมายเลข 4(LDPE) ก็ไม่ควรใช้ เนื่องจาก คุณสมบัติของซอสมะเขือเทศ หรือซอสพริก มายองเนส เป็นกลุ่มที่มีกรด มีน้ำมัน ดังนั้น ขวดพลาสติกที่เหมาะสมในการใส่ซอสกลุ่มนี้ จึงต้องเป็นกลุ่มพลาสติกหมายเลข 5 มีชื่อว่า พอลิโพรพิลีน (Polypropylene) เรียกโดยย่อว่า พีพี (PP)
ส่วนขวดพลาสติกที่ไม่แสดงหมายเลขใดเลย ยิ่งไม่ควรนำมาใช้ เพราะเป็นกลุ่มพลาสติกประเภทรีไซเคิล ที่ไม่ได้มาตรฐานสำหรับใส่อาหาร เรามักพบเห็นการขายขวดแบ่งแบบนี้สีสดๆ สีส้มสด สีแดงสด ก็ยิ่งควรระวัง
ซึ่งตามมาตรฐานของบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่ซอสประเภทนี้ กำหนดให้บรรจุภัณฑ์เป็นประเภทขวดแก้ว เนื่องจากสภาพของความเป็นกรด หรือน้ำมัน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของพลาสติก ดังนั้นขวดแก้วจะดีที่สุด แต่ในเมื่อกลุ่มอาหารฝรั่ง มีการเติมซอสเหล่านี้ เพื่อให้สะดวกในการบีบใส่ตามความพอใจ จึงมีการแบ่งบรรจุใส่ขวดพลาสติกที่บีบง่าย ดังนั้น เวลาจะซื้อขวดพลาสติกสำหรับแบ่งใส่ซอสมะเขือเทศ ซอสพริกหรือมายองเนส ควรดูสัญญลักษณ์หรือรหัสพลาสติกที่ก้นขวด
แต่ปัญหาคือ เราจะใช้ได้นานแค่ไหน จนกว่าจะขวดจะเก่าหรือจะแตกเอง นี่คือความเสี่ยงของผู้บริโภค แล้วอย่างนี้ทางออกที่เหมาะสมควรเป็นทางใด
ประการที่สอง การแบ่งบรรจุ ใส่ขวด ย่อมต้องมีการเท มีอากาศเข้ามาอาจส่งผลต่อการเกิดจุลินทรีย์ และหากใช้ไม่หมดขวด มีการเติมเรื่อยๆ ก็อาจเสี่ยงต่อการบูดเน่า ซึ่งแม้ปกติ ซอสเหล่านี้จะมีการใช้ใส่กันบูด ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในกรณีดังกล่าว
ประการที่สาม คือ ความสะอาด เนื่องจากซอสเหล่านี้มีความหนืดข้น มักจะมีซอสติดที่จุก ดังนั้นการทำความสะอาดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ทั้งการล้างภายในขวด การใช้แปรงล้างที่อาจเสียดสีกับพลาสติก ทำให้สารเคมีปนเปื้อนออกมาได้
ประการที่สี่ สภาพอากาศ บ้านเราอากาศร้อน อีกมีการขายในรถเข็น ตลาดนัด มีการย้าย การการวางในที่รับแสงแดดได้ง่าย ก็เพิ่มความเสี่ยงทั้งต่อพลาสติกและซอส
ประการที่ห้า คือความสะอาดของผู้สัมผัสซอส เช่น คนแบ่งเทซอส คนกินที่ยกขวดมาเท ต้องเปิดจุกปิดจุก การสัมผัสเช่นนี้ มีความสะอาดเพียงพอหรือไม่
แม้ไม่มีรายงานความเป็นอันตรายจากซอสหรือจากพลาสติกที่ใส่ซอสเหล่านี้ แต่ก็เห็นว่า ความน่ากังวลยังมีอยู่จากเหตุผลที่กล่าวมา แม้จะมีมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับร้านอาหาร หรืออย่างน้อย เราควรเชื่อใจพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอาหาร แต่กระนั้น องค์ประกอบต่างๆที่เป็นความเสี่ยงต่ออันตราย ก็ไม่อาจละเลยได้ดังนั้น หลายร้าน จึงหันมาใช้ ซอสที่บรรจุซองพลาสติกสำเร็จรูป แทนการเทหรือบีบจากขวดแบ่งพลาสติกสีสด
สำหรับในบ้านของเราเองไม่ควรแบ่งใส่ขวดพลาสติก เพราะซอสเหล่านี้บรรจุมาในขวดแก้ว ในสภาพที่เหมาะสม เพียงแต่ การเก็บรักษาหลังจากที่เราเปิดขวด ควรทำตามคำแนะนำจากฉลากขวด
©สุภฎารัตน์