Home ผู้บริโภค สิทธิผู้บริโภค เบื้องหน้า เบื้องหลังร้านอาหาร จะเป็นเช่นใดหนอ

เบื้องหน้า เบื้องหลังร้านอาหาร จะเป็นเช่นใดหนอ

0

เป็นคำถามที่ลูกค้ามักกังขาเสมอ แต่แม้จะกังขา ก็เลือกที่จะไม่ระแวง เลือกที่จะไม่คิดมาก เพราะถ้าคิดมาก เพราะถ้าคิดต่อก็จะกินไม่อร่อย อาจจะเสียความรู้สึก เสียดายเงินตามมา

 

การกินอาหารในร้าน การซื้ออาหารปรุงสุก เป็นชีวิตการกินประจำวันของเราในปัจจุบัน เนื่องจาก เรามีโอกาสทำอาหารเองน้อยลง ความไม่สะดวกและการทำงานนอกบ้าน การพบปะ งานเลี้ยง  งานฉลอง ล้วนทำให้เรากินอาหารนอกบ้านกันมากขึ้น ซื้อเขากินมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ เราจะเน้นความอร่อย ความสวยงามน่ากิน  ราคาพอใจ ความสะอาดของภาชนะ ความสะอาดทั่วๆไปของร้านในส่วนบริการลูกค้า การต้อนรับ การบริการของพนักงานรวมถึงบริการอื่นๆ เช่น ห้องน้ำ

การดูความปลอดภัยและความอร่อย มีโครงการของกระทรวงสาธารณสุข เช่น โครงการร้านอาหารสะอาด ปลอดภัยที่เราเรียกว่า clean food good taste มีหลักสุขภิบาลอาหารที่เจ้าของร้านอาหาร หรือแผงร้านอาหารในตลาดต่างๆ ก็มักจะได้รับคำแนะนำ การตรวจและการฝึกอบรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ดูแลด้านสุขาภิบาล นอกจากนี้ก็จะมีหน่วยงานด้านสุขภาพที่เป็นลักษณะงานโครงการ หรือนโยบาย และหน่วยงานด้านสุขภาพในชุมชน ซึ่งก็จะมีโครงการต่างๆเช่น โครงการอาหารปลอดภัย รวมทั้งการทำหน้าทีของ อสม.ในการดูแลตรวจสอบ รวมถึงโครงการที่สร้างกระบวนการอาหารปลอดภัยทั้งกระบวนตั้งแต่การปลูก การทำอาหาร การกิน พฤติกรรมการกิน ทัศนะค่านิยมและความรู้ความเข้าใจในการกิน เช่น โครงการเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์

และที่สำคัญคือความเอาใจใส่ในสิทธิด้านความอาหารปลอดภัย  ราคาเป็นธรรมของผู้บริโภค ซึ่งหากพบเป็นปัญหาที่ใด เรื่องใด ควรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็มีองค์กรผู้บริโภค ร่วมกับหน่วยงาน หรือองค์กรด้านสุขภาพร่วมช่วยกัน

แต่ปัญหาที่พบ ซึ่งเราควรตระหนักร่วมกันเพื่อการป้องกันตนเอง และการหาทางร่วมกันว่าจะแก้ไขอย่างไร มีหลายประเด็น เช่น

ประการแรก คือ ความไว้วางใจต่อร้านอาหารหรือพ่อค้าแม่ค้าว่า จะมีความปลอดภัย ความสะอาด คงเส้นคงวาทั้งหน้าร้าน หลังร้านของร้านอาหาร หรือสถานที่ทำอาหาร สถานที่ขายอาหาร หรือไม่ เจ้าของร้าน มีวินัยต่อการทำร้านอาหารที่ดี มีความเอาใจใส่มีความจริงใจต่อลูกค้าอย่างสม่ำเสมอหรือไม่

ประการที่สอง ปัญหา บุคลากรของร้าน เช่น คนทำอาหาร พนักงานเสริฟ พนักงานทำงานในร้าน ซึ่งปัจจุบันเป็นพนักงานจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนใหญ่ ถามว่า ความรู้ความเข้าใจต่อการทำหน้าที่ต้องตระหนักถึงเรื่องใด เข้าใจด้านสุขภิบาลอาหารทั้งหน้าร้านและหลังร้านเป็นอย่างไรบ้าง และเมื่อมีปัญหาการเปลี่ยนพนักงานบ่อย การฝึกอบรมของเจ้าของร้านมีความเข้มข้นและมีความเข้มแข็งอย่างไร อันที่จริงไม่ว่าพนักงานจะเป็นคนไทยเรา หรือเป็นแรงงานต่างด้าว ก็ควรเป็นเฉกเช่นเดียวกัน คือการดำเนินนโยบายของร้านว่า ไม่ว่าพนักงานจะเป็นใคร ก็ต้องเข้าใจ ได้รับการอบรม และมีความคงเส้นคงวาเป็นวินัยเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

ประการที่สาม ความสม่ำเสมอ ของร้าน ทั้งหน้าร้านและหลังร้าน เราผู้บริโภคก็หวังว่า จะสะอาด การล้างผัก การปรุง การล้างภาชนะ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของหลักสุขาภิบาล คำนึงถึงความปลอดภัย ดังนั้น การดูจากป้ายที่กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจและมอบป้ายก็เป็นแนวทางหนึ่งที่พอจะไว้ไจได้ ไม่ว่าอย่างไร ก็ต้องอาศัยความซื่อสัตย์ของผู้ขายหรือเจ้าของร้าน

ประการที่สี่ เรื่องราคาอาหาร แม้ว่าจะมีข้อกำหนดตามกฎหมาย แต่การติดประกาศราคาอาหาร บางร้านกลับเลือกที่จะติดประกาศ เพียงไม่กี่เมนู ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิด คิดโดยอนุมานว่า โดยรวมน่าจะอยู่กลุ่มราคาเดียวกัน แต่ก็พบว่ามีไม่น้อยที่ราคาต่างกันมาก และไม่แสดงราคา จนเมื่อคิดเงินจึงรู้ว่า แพงกว่าที่คิด

ประการที่ห้า คือเครื่องปรุงและของเหลือ ประเด็นเครื่องปรุง ก็เป็นปัญหาความสะอาดหรือภาชนะปกปิด และพฤติกรรมของลูกค้าที่อาจทำให้ระแวงว่าไม่สะอาด เช่น ลูกค้าใช้ช้อนของตัวเองตักเครื่องปรุงทุกอย่าง หรือ เครื่องปรุงของร้านดูเก่า ดูใช้ซ้ำๆ เพียงเติมใหม่ในแต่ละวัน อาจมีเชื้อราเกิดขึ้น เช่น พริกป่น ถั่วลิสง ซึ่งก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ส่วนของเหลือ จากจานของลูกค้า เช่น ผักที่ใช้ตกแต่งในจานอาหาร ,ผักเครื่องเคียงในอาหารเวียตนาม ลาบ ผักสดก๋วยเตี๋ยว ผักดอง หอมแดงกินกับข้าวซอย นโยบายมาตรฐานของร้านต้องเข้มงวดเด็ดขาดว่า ต้องทิ้ง ไม่นำมาบริการลูกค้าใหม่ ต้องไม่นำมาล้างเพื่อนำมาเสริฟต่อ สำหรับผักสดที่ให้ลูกค้าหยิบเอง ก็อาจเขียนข้อห้ามหรือคำแนะนำในการหยิบเองของลูกค้า เช่น ห้ามใช้มือหยิบ

นี่คือตัวอย่างที่เราคาดหวังว่าจะเป็นไปตามมาตรฐาน แต่ก็อดระแวงไม่ได้ ดังนั้น ความเอาใจใส่ของร้านอาหาร ความสม่ำเสมอเป็นมาตรฐานของร้าน คือสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าและยังจะนำมาซึ่งขื่อเสียง ของร้าน ความพอใจความไว้วางใจร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องร้าน เรื่องของพ่อค้าแม่ค้าที่เราฝากท้องฝากความปลอดภัยไว้ เราเองในฐานะผู้บริโภค ก็ควรมีจุดยืนในการเลือกร้าน เลือกอาหาร ไม่ใช่ว่า ความอร่อยเป็นตัวนำเพียงอย่างเดียว ไม่ควรสนับสนุนร้านหรืออาหารที่สกปรก ไม่น่าไว้วางใจ เช่น ร้านของทอดที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ นอกจากนี้ หากเราพบเห็นร้านใดมีปัญหา เราควรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันแก้ไข เช่น แจ้งเทศบาล แจ้ง อสม. แจ้ง สำนักงานสาธารณสุข แจ้งองค์กรผู้บริโภค หรือแจ้งเจ้าของร้านโดยตรง เมื่อพบเห็นปัญหาต่อหน้า ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคเองก็ควรปรับพฤติกรรมที่ส่งผลต่อคนอื่น เช่น การใช้ช้อนกลางสำหรับเครื่องปรุง

เราก็หวังว่า หน้าร้าน และหลังร้าน จะเป็นความสะอาด ปลอดภัย เอาใจเขามาใส่ใจเราร่วมกัน

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

punnamjai@gmail.com

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่  5 กพ.56.คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7