update เก๊กฮวยต้นนี้ปลูกกับมือ แต่ได้รับความเื้อื้อเฟื้อต้นกล้ามาอีกที
ได้ต้นกล้ามาจากบ้าน อ.ชัยยง ธรรมรัตน์ ครูแพทย์แผนไทย อาจารย์บอกว่า เคยได้ต้นพันธุ์จากเวียตนาม เอามาเพาะต่อแต่ไปไหนไม่รู้แล้ว …
ส่วนต้นที่ให้มาเป็นพันธุ์ที่ปลูกกันในบ้านเรา อาจารย์เล่าว่า ถ้าเป็นพันธุ์ของเวียตนาม ส่วนเกสร จะยาวและมีเกสรแน่่นมาก กลิ่นหอมมากกว่าของไทย
อาจารย์ชัยยงให้มากระถางใหญ่ ต้นแน่นเต็ม แต่ปลูกไม่เป็น ตายไปหลายต้น แบ่งให้เพื่อนไปอีก
จึงต้องเอาใจใส่มาก ที่จริงต้นเก๊กฮวยจะไม่ชอบแดดมาก แต่ย้ายมาหลายรอบ มาปลูกที่แดดแรง จึงต้องเอาฟางมารองไม่ให้ดินแห้ง ไม่นานก็ออกดอกตูม
เริ่มจะบานแล้ว
ผ่านไปหลายวันมาดูอีกทีบานสวยเชียว
ภาพนี้ถ่ายกลางมกราคม กำลังหนาวมาก แต่แดดกลางวันก็จัดจ้าน
อีกหลายวันถัดมา กลับบ้านเย็น อ๊ะ..บางดอกจะเหี่ยวต้องรีบเก็บเอาไปต้มกิน แต่เก็บภาพไว้ก่อน
ดอกบานประมาณนี้กำัลังพอดีที่จะเอาไปต้มทำน้ำเก็กฮวยสด หรือนำไปทำให้แห้ง
การขยายพันธุ์ทำได้ง่าย เพียงแยกหน่อ หรือชำกิ่ง แล้วปลูกในกระถาง หรือในแปลง ต้องการแสงสักครึ่งวัน
นี่คือดอกพร้อมที่จะนำไปต้มทำน้ำเก๊กฮวยสด อาจารย์ขิมให้มา บอกว่า ซื้อมากระถางหนึ่ง ขยายพันธุ์ได้หลายกอ ดอกบานก็เด็ดเอามาแจก แบ่งปันกัน
การทำน้ำเก๊กฮวยสด เราจะได้ความหอมที่ภาคภูมิใจด้วย แต่หากจะซื้อของสดไม่เคยเห็นมีขาย แต่สำหรับดอกแห้ง ก็มีขาย ทั้งของไทย และของที่มาจากเมืองจีน กิโลละ 400 บาท ของไทยแถวเชียงใหม่มีขาย เขาเอาดอกมาอัดแน่นเป็นแผ่นกลมๆแผ่นละ 70บาท สีจะอ่อนกว่าของจีน แต่ซื้อของไทยน่าจะสบายใจกว่า
เมื่อซื้อของแห้งมาควรอบเพิ่มสักหน่อย จะได้ไม่มีปัญหาเชื้อรา เวลาต้มทำน้ำเก๊กฮวยก็ใช้ไม่มาก สัก10-15 ดอก ต่อน้ำ 500 ซีซี
หรือจะนำมาต้มกับสมุนไพรอื่นๆ ก็จะได้รสที่แตกออกไป เช่น ผสมกับมะตูม ผสมกับตะไคร้ ผสมกับกลุ่มรสซ่าหรือกลุ่มที่มีน้ำมันหอมระเหย ก็จะได้รสออกซ่าๆ แต่ควรใส่แต่น้อย เพราะจะทำให้กลบรสกลิ่นสีของเก๊กฮวย
น้ำตาลไม่ต้องใส่ แต่หากชอบก็อาจใส่น้ำผึ้งก็จะทำให้สีเข้มออกน้ำตาล หากต้องการสีใสเหลืองดังเดิมก็ใส่น้ำตาลทรายขาว ซึ่งก็จะได้เพียงความหวานไม่ได้ประโยชน์ ดื่มมากก็อ้วนอีก
บางคนชอบให้สีเข้มอีกหน่อย ก็ใส่ดอกคำฝอยลงไปนิดหนึ่ง หรือใส่ผลพุดจีน(มีขายที่ร้านสมุนไพรหรือร้านสินค้าประเภทเครื่องเทศ ยาจีนจากจีน) ก็จะได้สีเหลืองเข้มๆสีส้มหน่อยๆ
ผสมใบเตยก็ได้สีออกเขียวเหลืองสวยอีกแบบแต่โดยปกติการผสมสมุนไพรทำเครื่องดื่ม ก็ไม่ควรให้กลิ่นตีกันมาก เก๊กฮวยหอมเป็นความเฉพาะอยู่แล้ว ก็ไม่ควรเพิ่มตัวอื่นที่กลิ่นมากลบกัน
ลองหามาปลูกและขยายพันธุ์ให้เยอะหน่อย พอถึงหน้าหนาวก็ได้ดอกเก๊กฮวย มาให้ชื่นชมด้วยสีเหลืองใส เด็ด(ตัดใจ)มาทำน้ำก็อร่อย มีมากก็ทำให้แห้งไว้ดื่มในหน้าร้อน
อยากเล่าต่ออีกนิด
ว่าการขยายพันธุ์นั้น เดิมก็เข้าใจว่า แยกหน่อและเอากิ่งแก่มาชำ
แต่เมื่อเดือนที่แล้ว(กรกฎาคม56) ไปเยี่ยมๆมองๆที่ต้นเห็นสูงชะลูดเลย ก็เอาแยกหน่อ ตัดกิ่งแก่ชำในถุงดำ แล้วก็ทิ้งยอดอ่อนวางแถวๆนั้น มาดูอีกที แปลกแฮะ ไม่ยักเหี่ยวตอนแรกก็คิดว่า ช่วงนี้มีฝน ก็คงอากาศดีมีน้ำเยอะ แต่ก็อยากลอง ก็เลยเอายอดๆที่กองๆทิ้งๆนั่นแหละมาชำต่อ
อ้าว..กลายเป็นว่า ดูดีทีเดียว ชูช่อตั้งต้น เหมือนบอกกับเราว่า อยากจะโตล่ะ..
วิธีชำ ได้แอบใช้เทคนิคของอาจารย์ชัยยง เคยเห็นอาจารย์ชำกิ่งอะไรๆก็จะคลุมด้วยถุงพลาสติก(หรือขวดน้ำตัดครึ่ง) บอกว่่าเพื่อป้องกันการคลายน้ำเร็ว
เราก็คลุมด้วยถุงพลาสติกใส และบางส่วนคลุมด้วยกระสอบ(ที่ใส่ดิน) ช่วงนั้นฝนตกเยอะด้วย ก็รอๆ 4-5 วัน ไปสังเกตดูเห็น แตกใบอ่อน ก็เอาถุงออก
หลังจากนั้นหลายวันโทรไปหาอาจารย์อีกรอบ ตอนแรกกะว่า จะอวด ว่าชำยอดอ่อนก็ได้ค่ะ
แต่แล้วอาจารย์ก็บอกว่า นั่นแหละถูกต้อง เพราะปกติก็ใช้ยอดอ่อนนะแหละ ชำง่าย โตสวย ส่วนกิ่งแก่อาจจะแคระๆแกร็นๆ เราก็อ้าว เหรอ..แว้ววววววววว
ภาพนี้ส่วนที่แยกหน่อ และชำกิ่งแก่
ภาพนี้ กิ่งไม่แก่มาก จะเห็นว่า ดูดีกว่า
เริ่มแตกใบอ่อน
นี่คือเด็ดสุด ต้นเตี้ยๆคือส่วนยอด ที่ตอนแรกทิ้งไป เอามาชำ ติดโตทุกยอดเลย เยี่ยมมากๆ
…นี่แหละเขาเรียกว่า รู้ไม่จริง
แต่ก็ยังดีที่มีครูแนะนำ
ตอนนี้ก็เลยมีต้นกล้าหลายต้น รอมั่นใจอีกนิด ก็จะถึงคราวประกาศแบ่งปันกันล่ะ
และก็คงได้รอวันแข่งกันว่า ถึงหน้าหนาวดอกเก็กฮวยบ้านใครจะชูช่อให้ได้ลองลิ้มชิมรสน้ำเก็กฮวยสดก่อนใคร
©สุภฎารัตน์