Home ผู้บริโภค สิทธิผู้บริโภค “ใจเรา”ต้องกำหนดทางเลือก

“ใจเรา”ต้องกำหนดทางเลือก

0

การจับจ่ายสินค้าช่วงปีใหม่เป็นไปอย่างคึกคัก ทั้งด้านการท่องเที่ยว สินค้าของขวัญของรางวัล สินค้าเพื่อการเฉลิมฉลองทำให้การซื้อสินค้าช่วงนี้ ผู้บริโภคมักจะเทใจให้กับสิ่งที่ตนเองพอใจ ในขณะที่ผู้ขาย ต่างก็ระดมสินค้าใหม่ สินค้าเก่า สินค้าค้างสต๊อกออกมาให้เลือกหา มีการจัดโปรโมชั่น มีการลดราคา มีการชิงรางวัลหรือแลกรางวัล

นอกจากสินค้าของบ้านเราแล้ว ยังมีสินค้าจากชายแดน จากเมืองจีน ทะลักเข้ามาครองตลาดบ้านเราอย่างมโหฬารเลยก็ว่าได้ สำหรับในห้างสรรพสินค้า หากเราดูฉลากเราก็พบว่าสินค้ามากที่ระบุว่านำเข้าจากเมืองจีน หรือผลิตในจีน

สำหรับตลาดนัด ตลาดเร่ ก็สินค้าจำนวนมากมายและกระจายไปทั่วทุกแห่งที่มาจากชายแดนโดยตรง ทั้งที่เป็นสินค้าที่เกษตร สินค้าสำเร็จรูป สินค้าแปรรูป ของเล่น เครื่องใช้สารพัดชนิด เสื้อผ้า แฟชั่น รองเท้ากระเป๋าฯลฯ โดยเฉพาะช่วงนี้ เราจะพบส้มจากเมืองจีน ยึดครองตลาดผลไม้ในบ้านเรา ไม่ว่าไป ที่ใดเราจะพบส้มจากเมืองจีน คนนิยมซื้อกันมาก ความเสี่ยงจากสารเคมีจึงตกอยู่กับผู้บริโภคตรงๆ

สินค้าจากชายแดนกระจายไปทั่วเมืองแต่ผู้ก็ยังนิยมที่จะไปซื้อจากชายแดนแม่สายโดยตรง เพราะเป็นการท่องเที่ยวและสามารถเลือกหาได้ตามความพอใจ แม้จะมีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคออกตรวจสินค้า แต่ก็ทำอะไรได้มาก เพราะมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ศักยภาพของการจัดการ และเป็นค่านิยมของผู้บริโภค ที่ซื้อมาใช้เอง ซื้อเป็นของฝาก ซื้อไปแจก ซื้อไปขายต่อ จึงต้องอาศัยความเข้าใจด้านความปลอดภัยในสินค้าของผู้บริโภคเป็นหลัก

ปัจจุบัน นิยมนำสินค้าจากชายแดน มาขายในลักษณะของการแบ่งบรรจุ เมื่อซื้อมาเป็นกระสอบเป็นกิโลๆ ก็นำมาใส่ขวด ใส่กล่องใหม่ ทำให้ดูดี ทำฉลากภาษาไทยแปะไว้ การเขียนวันผลิตก็ใส่วันที่ใส่ถุง แต่ไม่บอกว่าผลิตที่ไหน ใครผลิต  ซึ่งตามกฎหมายของไทยแล้ว ต้องมีฉลาก ครบถ้วน ผู้ซื้อก็ไม่ใส่ใจ อยากกินก็ซื้อ อยากซื้อก็ซื้อ เพราะปัจจุบันการทำหีบห่อบรรจุให้สวย ทำฉลากสวยๆ ทำได้ง่ายมาก ทำให้ผู้ซื้อดูลักษณะซองบรรจุ หรือฉลากสีสัน มากกว่า ฉลากที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นฉลากเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

บรรยากาศปีใหม่ บรรยากาศของการท่องเที่ยวเป็นการซื้อขายตามความพอใจ มากกว่าความจำเป็น เพราะถือเป็นโอกาสพิเศษ เป็นโอกาสของการเฉลิมฉลอง

ดังนั้นต้องถาม “ใจเรา” ว่ากำหนดทางเลือกแบบไหน เราจะลำดับความสำคัญอย่างไร บางคนเอาคุณภาพมาก่อน บางคนเอาความปลอดภัย บางคนเอาราคาถูกเป็นตัวนำ  บางคนถือว่าความปลอดภัยเป็นเรื่องขาจร คิดว่ากินครั้งเดียว กินบ้างไม่เป็นไร บางคนกึ่งๆกลางๆ ตามประเภทสินค้า เช่น ถ้าเป็นเสื้อผ้าก็พออนุโลม แม้จะเย็บไม่เรียบร้อย ก็พอใจ แต่ถ้าเป็นของกิน ก็จะหลีกเลี่ยง แข็งใจไม่ซื้อ  บางคนซื้อไปฝากเขา คิดว่าไม่เป็นไรหรอก ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ผู้บริโภคควร กำหนดให้ “ใจเรา”มีสติมากๆ ควรยึดหลักความปลอดภัยไว้ก่อน  ตามสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค ระวังอารมณ์ตอนซื้อก็อยากได้ แต่ตอนใช้กลับพบว่าเป็นของที่ไม่น่าซื้อมาเลย แถมอาจมีอันตรายต่อสุขภาพ

ในแต่ละปี สถานการณ์ของผู้บริโภค คือ พบกับแรงกระตุ้นการซื้อจากตลาด จากผู้ประกอบการ เราจะพบกับสินค้าใหม่ๆ เทรนด์ใหม่ๆ ปีนี้ ความขาวมาแรง สมุนไพรสกัดมาแรง ฉีดเสริมความงามมาแรง ปีหน้าจะมีอะไรมาอีก บางทีก็จะเป็นเรื่องเดิม สินค้าวนเวียนเดิมๆ แต่เปลี่ยนฉลาก เปลี่ยนยี่ห้อ เปลี่ยนการโฆษณาใหม่ ผู้บริโภคจึงต้อง กำหนดให้ “ใจเรา”มีสติมากๆ คิดให้รอบคอบ

อิทธิพลสื่อ ก็ยิ่งกระพือความต้องการให้อยากได้อยากซื้อ  ดังนั้น การติดอาวุธด้วยสติ ปัญญาในการกำหนด “ใจเรา” พร้อมกับความรู้สิทธิผู้บริโภค และกฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้บริโภค ยิ่งต้องเผชิญกับกระแสตลาด ที่ใช้สื่อมาทุกรูปแบบ เราจึงต้องกำหนดทางเลือกเพื่อความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตที่ดี 

ปีใหม่นี้ ขออวยพรให้ ทุกท่านมี ความสุข มีความเจริญก้าวหน้า มีสุขภาพดี และขอให้กำลังใจทุกท่านค่ะ

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

punnamjai@gmail.com

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่  25 ธค 2555คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7