Home Uncategorized ฟังเสียงสายน้ำ ค่ำคืนยี่เป็ง

ฟังเสียงสายน้ำ ค่ำคืนยี่เป็ง

0

งามแต๊ๆ ยามคืนลอยกระทง มองน้ำงาม มองพระจันทร์สวยกระจ่าง กาลเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไร สายน้ำในค่ำคืนยี่เป็ง ยังคงทำหน้าที่จุดประกายความหวัง ให้เราได้ทำบุญ ขอบคุณและอธิษฐาน

หลายปีก่อน ข้าเจ้าจัดรายการวิทยุ เป็นรายการสด จากริมน้ำปิงค่ำคืนยี่เป็ง และในการสัมภาษณ์ผู้คนที่มาลอยกระทง ได้พูดคุยกับแม่อุ้ยที่มาขายกระทงริมน้ำปิง ยังความประทับใจมาจนทุกวันนี้

คำอู้จ๋าของแม่อุ้ย สื่อให้รู้ถึงความสุข ของงานยี่เป็ง แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลง การทำหน้าที่ของประเพณีและผู้คนเป็นวิถีของการสืบทอด เมื่อได้บอกเล่าเรื่องราวแต่อดีต เหมือนทำหน้าที่แทนเสียงของแม่น้ำ ทำหน้าที่บอกเล่าแทนกาลเวลา

แม่อุ้ยย้อนความหลัง ครั้งเป็นเด็กๆ เติบโตมาข้างน้ำปิง เที่ยวเล่น และขายกระทงมาตั้งแต่เด็ก ขายกระทงไป ดูสายน้ำ ดูผู้คน เห็นแม่น้ำกว้างใหญ่ บ้านเรือนไม่แออัด ผู้คนไม่ยัดเยียด การแต่งตัว แบบหมู่เฮา ไม่มีนักท่องเที่ยวมาก

ทุกอย่างเหมือนมนตราของธรรมชาติ เป็นความงามของทุกสิ่งรวมกัน ไม่มีประเด็นขยะ ไม่มีประเด็นปัญหานั่นนี่มากมาย การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นทีละน้อยๆ จนการเปลี่ยนแปลงขยับก้าวอย่างรวดเร็วในช่วง 20ปีมานี้ ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม สายน้ำปิงก็คับแคบลงจากเดิม มีตึกสูงรายล้อมพร้อมจะขยับไล่ล่าแม่น้ำปิงอยู่ทุกแห่ง

การขายกระทงริมน้ำปิงของแม่อุ้ย ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก ยังคงทำกระทงมาขาย มีลูกหลานมาช่วยทำ และนำมาขาย ไม่ได้หวังผลกำไรหรือรายได้ แต่ทุกปีต้องมานั่งขาย เพราะมีความสุขกับสายน้ำปิงในค่ำคืนยี่เป็ง แม้จะยอมรับว่าเสียดายธรรมชาติและวิถีเก่าก่อน  แม่อุ้ยก็บอกว่า แม้ไม่เหมือนเดิม แต่ยี่เป็งยังเป็นประเพณีของชาวบ้านเรา การมานั่งขายกระทงช่วยสร้างสุขให้รำลึกยี่เป็งในอดีต และดีใจว่าประเพณียังคงอยู่

แม่น้ำทุกสายเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่เดิมไม่ว่าในเมืองหรือชนบทป่าเขา เรามีลำเหมืองลำห้วยใหญ่น้อย เป็นส่วนหนึ่งของเรา แต่เมื่อมีการถมถนน ลำเหมืองในเมืองใหญ่ ก็แทบจะไม่มีเหลือ และการขยับขยายของคนก็นำไปสู่การถมคลองทำถนน  บ้านเรือนขยับชิดขอบลำเหมือง  บางแห่งถึงกับเอาลำเหมืองไปเป็นส่วนตัว ไม่ว่ากลโกงจะได้มาอย่างไร การรุกล้ำพื้นที่แม่น้ำ เป็นเสียงสัญญาณอันตรายว่า นั่นอาจเป็นเสียงคร่ำครวญ ของเราในปัจจุบันและอนาคต

ข้าเจ้าเคยไปดูขุนน้ำ ต้นน้ำ ตาน้ำหลายแห่ง เมื่อสองปีก่อนไปที่เชียงดาว  ก็ไปดูตาน้ำปิง อยู่ในหุบเขาเล็กๆ มีช่องเป็นน้ำในถ้ำ  ชาวบ้านหวงแหนและเคารพมาก เพราะนั่นคือ ตาน้ำ ขุนน้ำปิง ซึ่งเราจะพบตาน้ำที่ชาวบ้านรู้จักและพิทักษ์รักษาอยู่หลายแห่ง ด้วยสำนึกว่า ผู้อยู่ต้นน้ำ ต้องดูแลต้นน้ำ ถ้าไม่เช่นนั้น คนปลายน้ำจะมีน้ำกินน้ำใช้ได้อย่างไร

แต่ตอนนี้ ต้นน้ำก็ถูกรุกราน ปลายน้ำยิ่งถูกรุกรานมากกว่า เวลาฝนตกมากฝนตกน้อย เราก็โทษป่าเขา คนบนดอย ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่คนปลายน้ำ ทำถนนตัดสายน้ำ สร้างตึกบ้านเรือนรุกพื้นที่ กลับมองไม่เห็นตนเอง ดังนั้นหากที่ใดยังมีลำเหมืองลำห้วย แม่น้ำลำคลองช่วยกันดูแลรักษา อย่าปล่อยให้มีการรุกล้ำ อย่าปล่อยให้ลำเหมืองแห้งขอด

ข้าเจ้าคิดว่า แม่น้ำทุกสาย ไม่ว่า แม่น้ำสายใหญ่ สายเล็กสายน้อย ล้วนมีเรื่องเล่า และเรื่องเล่าเหล่านั้น  ส่วนหนึ่งมีแม่อุ้ยพ่ออุ้ยที่อยู่ในถิ่นอาศัยใกล้น้ำแต่ละสายเป็นผู้เล่าแทน ทำหน้าที่แทนเสียงของแม่น้ำ และเป็นเสียงเล่าในค่ำคืนยี่เป็ง

 

เป็นโอกาสของเราที่จะได้รำลึกบุญคุณพระแม่คงคา ที่หล่อเลี้ยงชีวิตคน ค่ำคืนยี่เป็งเราได้ขอบคุณแม่น้ำ เติมแต่งบูชาแม่น้ำด้วยแสงสีของดอกไม้ กระทง ประทีปโคมไฟ

และลองฟังเสียงของสายน้ำว่า มีความสุขมีความกังวลอย่างไร เมื่อมองไปข้างหน้า เราอาจเป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่เป็นเสียงให้สายน้ำอีกคนหนึ่ง

 

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันพุธที่  …28 พย 55….คอลัมน์ภูมิปัญญาเพื่อสุขภาพ หน้า  5