Home Uncategorized ม่วนใจ๋ทำบุญ วันศีลวันตานและงานปอย

ม่วนใจ๋ทำบุญ วันศีลวันตานและงานปอย

0

ช่วงนี้ถ้ามีโอกาสเดินทางไปไหนมาไหน เราจะพบกับบรรยากาศของงานบุญสำคัญ คือวันออกพรรษา งานสลากภัต งานกฐิน ผ้าป่า และเทศกาลลอยกระทง เป็นช่วงม่วนใจ๋ของการทำบุญ วันศีลวันตานและงานปอยของศรัทธาหมู่เฮา

เมื่อครั้งยังเด็ก ข้าเจ้าอยู่กับอุ้ย อยู่ในหมู่บ้าน คนบ้านเราสมัยก่อน ให้ความสำคัญกับวันศีล วันตาน(วันทำบุญ งานบุญ) และงานปอยมาก มีส้มโอลูกงามก็คิดถึงวัด มีกล้วยอ้อยก็คิดถึงสลาก มีดอกไม้ก็คิดถึงการเอาทำสวยดอกไปวัด มีมะพร้าวก็คิดถึงการทำขนมไปวัด มีหน่อไม้ดอง มีไก่มีหมู มีผัก ก็คิดถึงการทำห่อนึ่ง มีเสื้อใหม่ผ้าใหม่ก็คิดถึงการแต่งตัวไปวัด ในวันศีล ก็มีการเตรียมปินโตไปวัด จะแกงนั่นจะแกงนี่ แม้วันธรรมดา ก็คิดถึงการส่งปินโตไปวัด มีขโยมวัดมาเก็บแต่เช้า

การสานก๋วยสลากก็เป็นส่วนหนึ่งที่มักพบเห็นอยู่เสมอ บ้านใดก็สานก๋วยได้ สานก๋วยงาม ก็จะมีคนมาสั่งจองไว้ แต่หากบ้านใดไม่สานก๋วย ไม่มีไม้ผล ไม่มีดอก ก็จะเอิ้นบอกขอกัน ใครมีอะไรก็เอิ้นบอกกัน แบ่งปันกัน หรือเอามาแลกกัน

เมื่อถึงวันดา ก็แบ่งหน้าที่กันในบ้าน และมาช่วยกัน การทำขนมก็มักทำขนมจ๊อก ขนมเกื๋อ(เกลือ) ขนมสอดไส้ ขนมกน(กน-กวน) สารพัดแล้วแต่ชอบกัน ตั้งแต่ขูดมะพร้าว ในสมัยก่อน เราจะใช้กระต่ายขูดมะพร้าว ถ้าเป็นมะพร้าวทึนทึกก็สนุกล่ะ แต่ถ้ามะพร้าวแก่ เด็กๆก็จะเกี่ยงกันเล็กน้อย

ส่วนการต๊กต๋อง(เก็บใบตองกล้วย ใช้วิธีมีดหรือเคียวเกี่ยวตัดลงมา) ก็ต้องเลือก ใบสวยไม่สวย เอามาเช๊ด ฉีกใบตอง การโม่แป้งสมัยก่อนก็ใช้โม่หิน เวลาโม่ไปก็ลุ้นกันไป น้ำตาลน้ำอ้อยเตรียมพร้อม ห่อกันไปสอนกันไป และรอสุก นั่นแหละ รางวัลล่ะ พ่ออุ้ยก็จะมาแบ่งส่วนหนึ่งเตรี่ยมเอาไปวัด

ส่วนการห่อนึ่ง ก็แล้วแต่สูตรใคร บางทีก็จะเอามาแลกกัน บ้านนั้นห่อนึ่งไก่ บ้านนี้ห่อนึ่งหน่อ บ้านนั้นแกงฮังเล ถ้าไม่ได้แลกกัน ก็จะได้กินส่วนหนึ่ง เมื่อตุ๊ลุงจะเอามาแบ่งกัน หรือปูจาเอามาทำแก๋งโฮ๊ะ

ส่วนการเตรียมอย่างอื่น เช่น สวยดอก ก๋วยสลาก ข้าวตอกดอกไม้  ขันดอก ซ้าไปวัด(ตะกร้าไปวัด) ถาดไปวัด หรือของอื่นๆ ที่คนเฒ่าคนแก่จะรู้และเตรียมด้วยตนเอง หรือบอกลูกหลานจัดหามา แม่อุ้ยก็เอาจัดวางให้ถูกตามประเพณีนิยม หรือจัดให้เหมาะสม

การดาครัว(เตรียม) เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเหมือนเป็นหลักสูตรเรียนรู้ของลูกหลาน ได้เห็น ได้จดจำ ได้ทำตาม ได้ช่วย  และต่อเนื่องถึงการไปวัดด้วยกัน ก็เป็นความสุขของคนบ้านเรา

สำหรับดอกไม้ไปวัด ก็เป็นส่วนสำคัญ สมัยก่อน ทุกบ้านจะมีต้นไม้ต้นดอก บ้านใดดอกไม้สวยก็มีคนมาขอ ไม่หวงกัน แบ่งกันไป ประเภทดอกไม้ไปวัดมีทั้งดอกที่มีกลิ่นหอม ดอกสีสวยใบสวย เช่น ดอกเก็ดถวา ดอกซอมพอ ดอกกุหลาบ ใบโกสน ดอกพุด ดอกมะลิ ดอกชบา ดอกหงอนไก่ ดอกบานชื่น แต่ปัจจุบัน ดอกไม้ไปวัดก็จะไม่ค่อยมี  เราต้องไปซื้อจากตลาด ก็จะมีชาวบ้านเอามาขาย ทำเป็นสวยดอกมาเรียบร้อย หรือขายเป็นมัด เราก็ซื้อมาทำสวยดอกเอง ส่วนสวยดอกไม่มีใบตอง ก็ใช้กระดาษ เป็นการปรับตามสะดวก

ปัจจุบัน งานบุญประเพณี แม้จะมีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปมาก และมีการรณรงค์เรื่องต่างๆ เข้ามาผสมผสาน ก็นับว่าเป็นการปรับตามยุคสมัย เช่น

เรื่องเหล้า ก็มีกฎหมาย มีการขอความร่วมมือและมีมาตรการของชุมชน เช่น งดเหล้าในงานบุญ งานประเพณี เขตวัดปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ ของถวาย งดบุหรี่

เรื่องอาหาร เช่น อาหารตักบาตร ถวายพระ ควรใส่ใจสุขภาพ ลดหวานมันเค็ม น้ำปานะลดน้ำอัดลม น้ำหวานใส่สี อาหารสุก ระวังบูด สำหรับงานปอย ก็มีการรณรงค์ อาหารงานปอยให้เป็นอาหารสุขภาพเช่นกัน ชาวบ้านสุขภาพดี  ศรัทธาบ้านเฮาตระหนักเรื่องสุขภาพ ก็จะส่งผลให้การถวายอาหารพระสงฆ์สามเณรมีความเอาใจใส่มากขึ้น

เรื่องก๋วยสลาก สังฆทานก็รณรงค์ ตามฮีตฮอยประเพณี คำนึงถึงประโยชน์  งดถังเหลืองที่ไม่มีคุณภาพ รื้นฟื้นแบบแบบดั้งเดิม หรือประยุกต์ตามความเหมาะสม  นอกจากนี้ก็มีการสนับสนุนให้วัดรีบจัดแยกของที่ศรัทธาเอามาทำบุญ เพื่อลดการสูญเสียเปล่าประโยชน์  มีการจัดการส่วนที่ใช้ ส่วนที่เก็บ ส่วนที่จะบริจาคต่อ

และก็ต้องตัดใจหากของที่ไม่คุณภาพต้องกำจัด ต้องทิ้ง เพราะหากมีคนมาขอต่อ หรือมาขอบริจาคแม้ว่าของไม่ดี แต่อาจนำไปหมุนเวียนขายได้ ก็จะยิ่งเพิ่ม สินค้าไม่ดีสู่ท้องตลาด ซึ่งบางส่วนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนกล่องบรรจุใหม่ แต่สินค้าคงเดิม ก็จะยิ่งอันตราย

เรื่องการแต่งตัวไปวัด ก็รณรงค์แต่งกายสุภาพ ไม่โป๊ ไม่นุ่งสั้น  สำรวมกิริยาวาจา ระเบียบข้อควรระวัง ในวัด ในวิหาร

เรื่องขยะ ก็มีการรณรงค์ลดขยะในวัด หรือช่วยกันจัดระบบเก็บขยะ ทำอย่างไรไปวัดแล้วไม่ทิ้งขยะเรี่ยราด

การสืบสานประเพณี การทำบุญ การเรียนรู้เรื่องของการทำบุญให้ครบ ทั้ง การให้ทาน การรักษาศัล การเจริญภาวนา เป็นพื้นฐานของเรา รวมทั้งการให้ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสิ่งดีดี ป้องกันปัญหาจากเรื่องไม่เหมาะสม ก็จะเป็นการช่วยให้งานบุญของเราม่วนใจ๋กันทุกท่านเจ้า

อีกอย่าง หากท่านใดที่ได้งดเหล้าเข้าพรรษา มาตลอดสามเดือน ก็ขอชื่นชม และหากเป็นไปได้ ลองงดเหล้าต่อไปเรื่อยๆ จะดีต่อสุขภาพ

©สุภฎารัตน์

พิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันพุธ ที่ 24 ตุลาคม 2555 หน้า 5 คอลัมน์ภูมิปัญญาเพื่อสุขภาพ