ไปแอ่วไปเยี่ยมคนป่วยบ้านเหนือบ้านใต้

0
2793

“ไปแอ่วหาพ่ออุ้ย….แม่อุ้ย…แม่ป้า..แม่อา…เปิ้นว่าไม่สบาย” ประโยคนี้ เรามักได้ยินได้ฟังเสมอ เมื่อมีคนป่วยในหมู่บ้าน ก็จะมีการชักชวน บอกกล่าวกันให้ไปเยี่ยมไปหา

                การเยี่ยมผู้ป่วยเป็นวิถีปฏิบัติในหมู่บ้าน เมื่อเราทราบว่าใครป่วย ก็จะบอกต่อๆ กันไป เริ่มจากบอกต่อในหมู่ญาติพี่น้อง ขยายต่อถึงใกล้ชิด และบอกกับคนอื่นๆ  หากมีอาการป่วยหนัก ก็มักจะบอกต่อกันเป็นนัยๆ ว่า “พ่ออุ้ย…ไม่สบาย นอนอยู่”  “เปิ้นลุกบ่ได้” “ไปโฮงยามาล่ะ ปิ้กมานอนที่บ้าน”นั่นก็หมายถึง เราควรรีบไปเยี่ยม

                การเยี่ยมผู้ป่วย จึงเป็นยาใจ บอกกล่าวให้กำลังใจ ถามไถ่อาการ พูดคุยกัน  มีอะไรที่จะช่วยกันได้ ก็จะพยายามช่วยกัน บางคนบ่นอยากพบหน้าลูกหลานที่อยู่ไกล ก็ช่วยติดต่อให้ บางคนอยากกินอาหารที่ชอบ อยากได้หนังสือ อยากได้ซีดีธรรมะ อยากให้ไปทำบุญให้อย่างนั้นอย่างนี้

                ปัจจุบัน การเยี่ยมผู้ป่วย มีรูปแบบที่เปลี่ยนไป มีการจัดการเข้ามาแทนที่ จึงไม่ใช่แค่คนในหมู่บ้านเท่านั้น หากยังมีหน่วยงานต่างๆ จัดทำโครงการเยี่ยมบ้าน โดยมีจุดประสงค์เพื่อการรักษา การติดตาม และการดูแลต่อเนื่อง โดย เช่น การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยของ อสม., การเยี่ยมบ้านของโรงพยาบาล,องค์กร,มูลนิธิหรือโครงการต่างๆ ที่จะไปเยี่ยมผู้ป่วยเฉพาะโรค เช่นผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน โรคเอดส์ ฯลฯ     

ขณะเดียวกันการเยี่ยมผู้ป่วยในชุมชนก็เปลี่ยนไปตามการรักษาโรค เราจึงไปเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาล ซึ่งก็จะมีระบบรองรับ เวลาเยี่ยม และจำนวนคนเยี่ยม  รวมถึงอาจมีข้อกำหนดอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนรองเท้า การเปลี่ยนเสื้อผ้า การสวมผ้าปิดจมูก สำหรับผู้ป่วยที่ต้องควบคุมห้องปลอดเชื้อ หรือป้องกันการติดเชื้อ

นอกจากนี้ อาจมีข้อห้ามหรือมีคำแนะนำสำหรับของเยี่ยมผู้ป่วย เราไปเยี่ยม ก็ควรถามไถ่กันก่อนว่า อยู่ห้องไหน เยี่ยมได้ตอนไหน รับประทานอะไรได้บ้าง  สำหรับญาติใกล้ชิดก็อาจถามผู้ป่วยว่าต้องการอะไรเพิ่มเติม เพราะบางคนไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน ไม่ทันเตรียมตัว  บางคนก็เอาของเยี่ยมไปเผื่อคนเฝ้าด้วย เพราะเข้าใจดีว่า อาจไม่สะดวกที่จะจัดการด้วยตนเอง ดังนั้นการไปเยี่ยมผู้ป่วย จึงให้กำลังใจทั้งผู้ป่วยและครอบครัวด้วย

การพูดจาสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทั้ง การให้กำลังใจ การให้คำแนะนำ การตั้งคำถาม และที่สำคัญคือการรับฟังผู้ป่วยพูด หรือผู้ป่วยที่พยายามสื่อสารออกมา บางครั้งต้องแปลความหมาย พ่ออุ้ยแม่อุ้ยบางคน ท่านไม่ต้องการรักษาในโรงพยาบาล ต้องการกลับไปบ้าน

สำหรับผู้ป่วยและญาติใกล้ชิด ซึ่งต้องสื่อสารพูดจาถามไถ่กับหมอ,พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ ได้เตียงไหม รักษาอย่างไร กินอะไรได้ หายไหม แม้จะมีการแจ้งด้วยวาจา หมอบอก พยาบาลบอกหรือมีเจ้าหน้าที่มาบอก แต่คำถามก็ยังมีอยู่มากมาย ดังนั้น ก็ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย ใช้หลักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทั้งผู้ถาม ผู้ตอบ

บางคนไม่สามารถไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลได้ เมื่อทราบข่าวว่าออกจากโรงพยาบาลมาแล้ว หายแล้ว หรือยังไม่หาย ก็ไปเยี่ยมถึงบ้าน บางคนเอาข้าวปลาอาหารไปฝาก  แต่ส่วนใหญ่แล้ว จะไปเยี่ยมกันไม่ต้องมีของเยี่ยม เป็นรูปแบบของการเยี่ยมมาแต่ดั้งเดิม เป็นแบบง่ายๆ แค่ได้เห็นหน้าพูดจาถามไถ่ ปลอบใจกัน ให้กำลังใจผู้ป่วยและญาติ หากเป็นผู้ป่วยหนัก ก็ได้ร่ำลา ได้อโหสิกรรมกัน ได้บอกได้กล่าวกัน

อย่างไรก็ตาม การเยี่ยมผู้ป่วยกันเองของชาวบ้าน ค่อยๆลดบทบาทลงมาก  เหลือเพียงญาติสนิท หรือบางบ้านก็คงการเยี่ยมของผู้เฒ่าผู้แก่กันเอง ลูกๆหลานๆ ไม่ค่อยจะรู้จักกัน ก็ห่างๆกันไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยน  มีคนอื่นๆมาอาศัยในชุมชน มีตึก มีบ้านจัดสรร มีการทำถนนใหม่ ก็ทำให้ความสัมพันธ์ในหมู่บ้าน ไม่เหมือนเดิม แม่อุ้ยบางคนบอกว่า “เตียวไปหากั๋นก็ยากแล้ว กั๋วรถ คนก็นัก ไผเป๋นไผบ่ฮู้”

“ยาใจ” “กำลังใจ” “ฮ้องขวัญหื้อขวัญ” “ทำบุญทำตาน” ยังเป็นยาวิเศษสำหรับผู้ป่วย การเยี่ยมผู้ป่วยบ้านเหนือบ้านใต้ ควรได้สืบต่อกัน ทั้งการไปแอ่วไปเยี่ยมฉันท์พี่น้องญาติมิตร และการเยี่ยมในรูปแบบของงานสาธารณสุข 

©สุภฎารัตน์

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันพุธที่  27 มิย.55 คอลัมน์ภูมิปัญญาเพื่อสุขภาพ หน้า  5