บิลไฟฟ้า น่าสงสัย..ให้ดูบิลก่อนจ่าย

0
1734

ระยะนี้ มีหลายท่านมาปรึกษาเพื่อร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องบิลค่าไฟฟ้า ปัญหาว่าทำไมแพงกว่าเดือนที่แล้วเยอะมาก ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรพิเศษในการใช้ที่บ้าน

และพอติดต่อไปที่การไฟฟ้า ก็มีพนักงานบริษัทรับช่วงมาดู เอาไปเอามาชักไม่แน่ใจ มีปีนรั้วเข้ามาด้วย บางรายบอกว่า พบสาเหตุการสับสวิทซ์หม้อไฟผิด แล้วอย่างนี้ใครจะรับผิดชอบ บางรายก็บอกว่าไม่เคยดูเลย พอต่อๆมาชักเอะใจ เห็นผิดปกติ และใช้วิธีจ่ายผ่านธนาคาร ก็สงสัยว่ามีปัญหาแบบนี้ แต่ธนาคารหักเงินไปแล้วจะทำอย่างไร

การอ่านบิลค่าไฟฟ้าทุกครั้งก่อนจ่ายเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว  ถ้าเป็นปกติ หรือน้อยลงหรือเพิ่มขึ้น เราจะได้ดูว่า เป็นเพราะอะไร ตั้งแต่การดูจากในบ้านของเราเอง ถ้าน้อยลง ก็จะได้เปรียบเทียบ ถ้ามากก็ควรตรวจดูระบบไฟในบ้าน พฤติกรรมการใช้ไฟของเรา  ถ้ามากไป เราจะประหยัดอย่างไร สภาพเครื่องใช้ไฟฟ้ามีอะไรเสียหายชำรุดไหม การใช้ไฟเป็นอย่างไร ลืมปิดไฟไหม เสียบปลั๊กไว้ทั้งที่ไม่งานที่ใด หรือบางครั้งก็อาจเพราะเคยชิน ต้องการสะดวกพร้อมใช้ เช่น เสียบกระติกน้ำไฟฟ้า เพื่อพร้อมสำหรับการชงกาแฟไว้ตลอดเวลา ทั้งที่ตลอดวัน เราอาจชงกาแฟแก้วสองแก้วเท่านั้น อย่างนี้ก็ต้องตรวจดู

ส่วนการดูบิลค่าไฟฟ้า เราก็จะดูง่ายๆ คือดูจำนวนเงิน จากนั้นมาดูหน่วยที่ใช้ กำหนดวันที่ต้องไปจ่าย ถ้าผิดปกติ เราก็จะดูตัวเลขมิเตอร์ จากนั้นก็ค่อยๆไล่รายการดู หากพบสาเหตุที่เราเห็นว่าผิดปกติควรร้องเรียนที่การไฟฟ้าใกล้บ้าน เพื่อตรวจสอบ อย่างนิ่งนอนใจ  เป็นสิทธิของเรา

ส่วนการจ่ายเงินผ่านธนาคาร หากพบปัญหาและหาสาเหตุได้ว่า เป็นความผิดหรือบกพร่องจากการไฟฟ้า ก็สามารถร้องเรียนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและชดเชยความเสียหาย ซึ่งเป็นไปตามสิทธิผู้บริโภค

สำหรับการเข้ามาบริเวณบ้าน ของเจ้าหน้าที่พนักงานใด ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ เช่นการตรวจดูสายไฟ หรืออื่นใด ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าของบ้านก่อน และต้องเป็นช่วงเวลาที่เจ้าของบ้านอยู่ที่บ้าน ซึ่งในกรณีของการเข้ามาตรวจดูสาเหตุภายในขอบเขตรั้วบ้าน  ต้องมีการนัดหมายก่อน จะใช้วิธีว่ามาถึงเมื่อไหร่เมื่อนั้น ทำอะไรก็ได้นั้นไม่ถูกต้อง หรือมาถึงเจอคนในบ้าน แต่อาจไม่ใช่เจ้าของบ้านที่เป็นชื่อผู้ใช้ไฟ  ก็ต้องแสดงตัวตน และให้เข้าของบ้านรับทราบหรือยินยอม

การแสดงตัวตนของพนักงาน เป็นเรื่องที่บ้านเราไม่ค่อยเอาใจใส่นัก เพียงใส่ชุด หรือใส่เครื่องแบบบริษัท หรือ ดูจากรถที่มา หรือมาแจ้งด้วยวาจา ผมมาจาก…มาดูไฟ..แต่ไม่มีบอกว่าชื่ออะไร หน้าที่อะไร ชื่อบริษัทอะไร ไม่มีบัตรแสดงตนให้ดู  ซึ่งลักษณะเช่นนี้ พึงระวัง นอกจากอาจเป็นเรื่องการแอบอ้างแล้ว ยังขาดหลักฐานการแสดงตนว่าได้มาดำเนินการ อะไรอย่างไร ซึ่งหากมีกรณีที่ต่อเนื่องถึงการร้องเรียน หรือการฟ้องร้องก็อาจไม่มีหลักฐาน  เมื่อมีการร้องเรียนและมีการส่งพนักงานมาสำรวจหาสาเหตุ ของพนักงานการไฟฟ้า หรือพนักงานบริษัท ควรแสดงบัตร แสดงตัวตน ควรมีเอกสารให้เจ้าของบ้านได้เซ็นต์รับทราบถึงการดำเนินงาน เช่น มาตรวจสายไฟเข้าบ้าน หม้อมิเตอร์ และหากจำเป็นเจ้าของบ้านก็ควรถ่ายรูปขณะดำเนินงานตรวจสอบด้วย

อันที่จริง การไฟฟ้ามีข้อมูลข่าวสารใดที่ควรแจ้งต่อประชาชนในพื้นที่บริการ ควรมีการแจ้งอย่างเป็นระบบ เช่น ในพื้นที่บริการ มีบริษัทชื่ออะไร ที่มารับช่วงจดมิเตอร์ เก็บค่าไฟตามบ้าน หรือมาตรวจสอบเวลามีเรื่องร้องเรียน ,หมายเลขร้องเรียนหรือแจ้งเหตุใดๆ ของหน่วยบริการใกล้บ้าน

ขณะเดียวกัน ก็ควรมีการเผยแพร่ความรู้คู่มือ ต่างๆให้ชุมชนได้รับทราบต่อเนื่อง เช่น ความรู้เกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือมาตรฐานเครื่องไฟฟ้า เพราะปัจจุบัน มีเครื่องไฟฟ้าหลายชนิดที่ขายในบ้านเรา เครื่องใช้ไฟฟ้ากระจุกกระจิกมากมาย และมีไม่น้อยที่เป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มาจากชายแดนที่อาจไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่มีฉลากถูกต้อง ทำให้ผู้ซื้อมาใช้ไม่มีข้อมูลเพียงพอ และอาจไม่ปลอดภัย

ค่าไฟฟ้า เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นสำหรับเรา แต่จะมากหรือน้อย  ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งนอกจากปัญหาระบบการเก็บค่าไฟฟ้าที่ใช้ระบบค่าเอฟที ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคเห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมมาโดยตลอดแล้ว ยังมีปัญหามาตรฐานสำหรับเครื่องไฟฟ้า ระบบไฟในบ้านของแต่ละครอบครัว และพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า

หากพบค่าไฟที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตาม  ผู้บริโภคควรร้องเรียน อย่านิ่งดูดาย อ่านบิลทุกครั้งก่อนจ่าย หรือจ่ายไปแล้ว พบความผิดปกติ ก็ต้องร้องเรียน ขอตรวจสอบ  อย่าคิดว่า “ช่างมันเต๊อะ”  เพราะนี่คือสิทธิผู้บริโภค

 

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]

 

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่  ..28 สิงหาคม ….คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7