วันศีลคิดถึงข้าวปิ่นโต

0
3151

สมัยก่อน เรารู้จักข้าวปิ่นโตกันเป็นอย่างดี ทุกวันศีล เมื่อบ้านใดได้เตรียมข้าวปิ่นโต ก็เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ถวายอาหารพระด้วยฝืมือของเราเอง

เย็นก่อนวันส่งปิ่นโต ก็มี”ขะ-โยม” “เด็กวัด” เอาปิ่นโตมาส่ง รุ่งเช้าแม่ก็จะเตรียมอาหารให้เราเอาปิ่นโตมาใส่ เป็นวันที่ดีของบ้าน ที่จะได้ส่งปิ่นโต

ปิ่นโต ในสมัยก่อน นอกจากจะหมายถึง ภาชนะใส่อาหารสำหรับกลางวันของเด็กนักเรียน ยังหมายถึง ข้าวปลาอาหารที่เราใส่ถวายพระ โดยมีการแบ่งกันในหมู่บ้าน ว่า วันจันทร์ ไปสายเหนือวันอังคารสายใต้ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีหลายหมู่บ้านยึดถือประเพณีสืบต่อมา แต่นับวันเริ่มหายไปเรื่อยๆ และที่สำคัญคือ ชนิดของอาหารเปลี่ยนไปจากเดิมมาก

ประกอบกับสังคมและวัฒนธรรมอาหารของเราเปลี่ยนแปลงไป ค่านิยมด้านอาหารและพฤติกรรมการบริโภค ก็ล้วนส่งผลให้ ปิ่นโตเปลี่ยนแปลง และก่อให้เกิดประเด็นสุขภาพพระสงฆ์ พร้อมๆกับประเด็นสุขภาพของชาวบ้านเช่นกัน เพียงแต่ของพระสงฆ์ มีทางเลือกน้อยกว่า

เริ่มจากอาหารใส่บาตร ทุกวันนี้ มีอะไรบ้าง ลองยกตัวอย่าง เมนูหน้าตลาดซึ่งเป็นอาหารที่ขายให้เราไปตักบาตรกัน ก็มีข้าวขาวใส่ถุง มีต้มแตงกวา ผัดวุ้นเส้นใส่กะหล่ำปลี น้ำขวดสีส้มสีแดง บะหมี่สำเร็จรูป บางเจ้าก็มีการเปลี่ยนเมนูบ้าง แต่ที่ไม่เปลี่ยนคือ น้ำส้มสีสด ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ว่า “ของใส่บาตรพระ”

ส่วนอาหารชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่ซื้อมาถวายพระหรือใส่บาตรพระ ก็จะเป็นกลุ่มของทอด แกงหมูแกงเนื้อ ขนม นม น้ำ น้ำอัดลม น้ำหวานสารพัดสี  นมเปรี้ยว เครื่องดื่มชูกำลัง  ผลไม้ สำหรับเมนูประเภทผัก ไม่ค่อยนิยม อาจเพราะค่านิยมที่ดูเป็น”ผัก” และก็ไม่ค่อยมีแกงผักขาย ของดีที่เรามาถวายพระ จึงเป็นอาหาร ที่อุดมด้วย หวาน มัน เค็ม แต่งสี ปรุงรส ส่วนน้ำปานะก็เป็นน้ำอัดลม น้ำสารพัดสี

แม้จะมีการรณรงค์มาก เกี่ยวกับอาหารถวายพระ อาหารใส่บาตร แต่ก็ดูเหมือนไม่ค่อยได้ผล เพราะต่างคนต่างทำบุญ เรามักไม่ทักท้วงกัน พระ-เณรก็ไปตามกระแสสังคม ท่านก็ฉันตามญาติโยมถวาย ประกอบกับกิจวัตรที่ไม่ได้ออกกำลังกาย และ ความเข้าใจหรือความตระหนักของพระ-เณรต่อสุขภาพยังน้อย มีข้อจำกัดมาก จึงเป็นสาเหตุของสุขภาพ นอกจากอาหารหวานมันเค็มมากแล้ว บางโอกาสยังฉันอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ อาหารบูดด้วย

สำหรับการถวายยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ นั้น จะมีประโยชน์มากขึ้น หากได้หาข้อมูลจากวัดก่อน เช่น บางวัด ต้องการยาสามัญประจำบ้าน มาประจำวัด เพราะบางวัดมีเณรมาก ก็จะมีการจัดการภายในวัด ซึ่งก็จะมี อสม.หรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล มาช่วยจัดการ หรือบางวัดก็จะเป็นศูนย์สุขภาพของชุมชน ก็มีการจัดการที่หนุนเกื้อกัน แต่สำหรับพระสงฆ์ที่อาพาธ การได้รับถวายยา ก่อนฉัน ควรปรึกษาหมอที่รักษาด้วยเพื่อให้การฉันยาถูกต้องถูกโรค   สำหรับสังฆทานยาที่นิยมกันมากขึ้น ควรศึกษาและอ่านฉลากยาก่อน ระวังยาหมดอายุ หรือยาที่เก็บไม่เหมาะสม เพราะยาบางชนิดไวต่อแสง หรืออุณหภูมิ

จากข้อมูลของ กรมอนามัย ได้ศึกษาสุขภาพพระสงฆ์  ในระหว่าง 2553 – 2554 มีพระภิกษุ สามเณร จำนวน 98,561 รูป หรือประมาณร้อยละ 30 พบว่า สุขภาพปกติร้อยละ 55 เสี่ยงป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ประมาณร้อยละ 40 และมีพระภิกษุอยู่ในภาวะอ้วนรวม 5,381 รูป หรือร้อยละ 5  

จึงมีโครงการเกี่ยวกับสุขภาพพระสงฆ์มากมาย จากหลายหน่วยงาน แม้กระทั่งองค์กรส่วนท้องถิ่นบางแห่ง มีนโยบายส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ในพื้นที่ ซึ่งก็เป็นตัวอย่างดีที่จะสร้างความเข้าใจและเปลี่ยนทัศนคติของชาวบ้านและพระสงฆ์พร้อมกันต่อปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น

ขอเชิญชวนชาวพุทธ  ทำบุญตักบาตร ถวายอาหาร ถวายสิ่งของ ด้วยความพิถีพิถัน คำนึงถึงประโยชน์ หยุดค่านิยมผิดๆในการทำบุญ

พร้อมกันนี้ ขอกราบนมัสการพระคุณเจ้า ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ ซึ่งผู้เขียนคิดว่า จะเป็นสองด้านที่ส่งผลถึงกัน หากพระเทศน์ คำสอนเกี่ยวกับการบริโภคเชิงพุทธที่ต้องคำนึงหลักประโยชน์ คุณค่า ความพอดี ไม่กินมากไม่กินน้อยไป กินเป็นเวลา กินอย่างเหมาะสม คัดเลือกชนิดของอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดกลุ่มอาหารทอด อาหารมัน อาหารหวาน อาหารสำเร็จรูป เพิ่มสัดส่วนอาหารสดใหม่ ผักพื้นบ้าน ปลอดภัยจากสารเคมี   ก็เป็นการให้ความรู้ต่อชาวบ้าน ชาวบ้านก็ได้ตระหนักทั้งต่อตนเอง และต่อการทำบุญ และในมุมกลับหากชาวบ้านตื่นตัวต่อสุขภาพ ก็จะส่งผลถึงการถวายอาหารที่เหมาะสม ฝ่าวงล้อมของค่านิยมที่ผิด ฝึกตนไม่ให้ทำบุญสำเร็จรูปเกินไป

ปิ่นโต จึงควรส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์และสามเณร เป็นการทำบุญด้วยความเอาใจใส่ ผลย้อนกลับมาถึง ชาวบ้านอย่างเรา ที่ก็ต้องหันกลับมาดูแลสุขภาพด้วยเช่นกัน

วันศีลวันพระ จึงเป็นวันของการศึกษาปฏิบัติธรรม และทำบุญด้วยความสุข

©สุภฎารัตน์

หมายเหตุ

ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันพุธที่  ..1 สค 55….

คอลัมน์ภูมิปัญญาเพื่อสุขภาพ หน้า  5