“โซเดียม ไบคาร์บอเนต” คืออะไรหรือ? ใช้ล้างผักหรือ ? ซื้อได้ที่ไหน? บ้านอยู่ไกลหาซื้อยาก?
เหล่านี้คือเป็นคำถามของชาวบ้าน ที่ถามอยู่เสมอ ยามเมื่อมีการพูดถึงหรือการได้รับความรู้เกี่ยวกับการล้างผัก
โซเดียม ไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate) เป็นสารเคมี มีลักษณะเป็นผงผลึกหรือผงละเอียดสีขาว ละลายน้ำได้ดี รสชาติแปร่งเค็มเล็กน้อย มีคุณสมบัติเป็นด่าง
โซเดียม ไบคาร์บอเนต มีชื่อเรียก อีกหลายชื่อ เช่น เบคกิ้งโซดา,คุกกิ้ง โซดา และผงฟู จากก็แสดงให้เห็นว่าใช้ในการทำอาหารหรือขนมฝรั่ง เพราะผงฟูเป็นแหล่งให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยการสลายตัว ในขั้นตอนการอบเบเกอรี่ ทำให้เกิดช่องว่างขึ้น ขนมก็จะขึ้นฟูดังชื่อว่าผงฟู นอกจากทำขนมแล้ว โซเดียม ไบคาร์บอเนต ยังใช้ประโยชน์อื่นๆอีกมากมาย
ปัจจุบัน โซเดียม ไบคาร์บอเนต เป็นที่รู้จักกันเพื่อใช้ ในล้างผัก เพื่อช่วยกำจัดสารเคมีตกค้างจากการที่เกษตรกรใช้กลุ่มยาแมลงหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งกลุ่มสารเคมีเหล่านี้จะทิ้งสารตกค้างไว้ พืชผักและผลไม้ เช่น กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และกลุ่มออร์กาโนคาร์บาเมท
โซเดียม ไบคาร์บอเนตจัดเป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษต่ำ เป็นกลุ่มสารเคมีที่จัดว่ามีความปลอดภัยสูงและไม่ได้อยู่ในรายชื่อของกลุ่มสารก่อมะเร็ง การรับประทานในปริมาณเล็กน้อยไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผงโซเดียม ไบคาร์บอเนต ที่เป็นผง และควรระวังอย่าหายใจเอาผงของสารเคมีเข้าไปโดยตรง
สำหรับการนำมาใช้ในการล้างผักนั้น เนื่องจากโซเดียม ไบคาร์บอเนต มีสภาพเป็นด่าง เมื่อน้ำมาละลายในน้ำ จำนวน 1 ช้อนชา ละลายในน้ำ 20 ลิตร แช่ผักนาน 15 ถึง 20 นาที จะทำให้สารเคมีกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และกลุ่มออร์กาโนคาร์บาเมท สลายตัวได้ง่าย จึงสามารถลดปริมาณ ได้ 95 %
ด้วยปริมาณการลดสารเคมีสูงเช่นนี้ จึงมีการรณรงค์ให้ชาวบ้านใช้โซเดียม ไบคาร์บอเนต และ อสม.ก็มักนำมาเผยแพร่หรือแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก โซเดียม ไบคาร์บอเนต เป็นสารเคมี ที่แต่เดิมไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่เรารู้จักในการนำมาใช้ล้างผัก จึงอาจจะไม่มีจำหน่ายในพื้นที่ห่างไกล และอาจไม่สะดวกในการใช้ทุกครั้งที่มีล้างผัก และอาจไม่เพียงพอที่ อสม.จะมาแจกทุกครั้ง ดังนั้นการแจกผงฟูส่วนหนึ่งจึงเป็นรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของความปลอดภัยจากผักและผลไม้
แท้ที่จริงวิธีล้างผัก มีหลายวิธี เช่น
ใช้ด่างทับทิม, น้ำส้มสายชู, ซึ่งหากไม่สะดวกใช้ ก็อาจเลือกวิธีที่ใช้ง่ายๆ คือวิธีการใช้น้ำไหล โดย เด็ดผักแยกเป็นใบๆหรือใช้มือช่วยคลี่ผัก (แต่อย่าหั่นซอย) เปิดน้ำไหลนาน 2 นาที ลดสารพิษฆ่าแมลงได้ 54-63 % หรือใช้เกลือ 2 ช้อนโต๊ะผสมน้ำ 4 ลิตร แช่ผักทิ้งไว้ ก็สามารถช่วยลดสารเคมีได้
ซึ่งทั้งสองวิธี แม้ปริมาณการลดสารเคมีไม่เท่ากับโซเดียม ไบคาร์บอเนต แต่หากเราล้างอย่างถูกวิธี คลี่ใบ แยกใบเน่าเสียออก ก็เป็นวิธีที่เหมาะสมเพียงพอ และเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับล้างผักทั้งผักที่ใช้สารเคมีและผักเกษตรอินทรีย์หรือผักที่เราปลูกเอง เพราะปัญหาอันตรายจากผักนอกจากสารเคมีแล้ว ก็คือ ไข่พยาธิ ,และการปนเปื้อนอื่นๆจากดิน เราก็ต้องล้างให้สะอาด เด็ด หรือแยกก้านใบ โดยเฉพาะพืชผักที่ต้นติดดิน เช่น ผักชีฝรั่ง, สาระแหน่ ต้องแยกใบล้างทีละใบ
การล้างผักเพื่อลดสารเคมีเป็นทางออกอย่างหนึ่ง แต่เราก็ควรจะหาทางออกอย่างอื่นที่เหมาะสมและได้รับความปลอดภัย เช่น
(1) การเลือกผักตามฤดูกาล เพราะผักตามฤดูกาลเป็นผักตามธรรมชาติ ไม่ต้องบังคับปลูกผิดฤดู ที่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา อีกอย่างผักตามฤดูกาลก็เป็นผักพันธุ์พื้นบ้านดั้งเดิม ผักป่า จึงทนทานต่อแมลง มีฤทธิ์ทางสมุนไพรด้วย
(2) เลือกผักเกษตรอินทรีย์ เพราะเป็นการปลูกที่ไม่ใช้สารเคมี คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นการเกษตรแบบผสมผสาน จึงมีระบบนิเวศน์ในสวนป้องกันพืชและแมลง ต่างจากการปลูกชนิดเดียวเชิงเดี่ยว
(3) เลือกกินผักผลไม้ให้มีความหลากหลาย อย่ารับประทานซ้ำซาก
(4) ปลูกผักกินเอง แม้ไม่มาก อย่างน้อยควรมีผักประเภทเครื่องเทศ เช่น ตะไคร้ ข่า พริก โหระพา กระเพราเป็นต้น
ชุมชนใดมีการปลูกผักกินเอง มีการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ มีการปลูกผักกินเองในบ้าน อาจไม่จำเป็นต้องใช้โซเดียม ไบคาร์บอเนต แต่ก็ต้องใช้วิธีล้างผักให้สะอาด เพื่อที่เราจะได้บริโภคอาหารปลอดภัย เพียงแต่อย่าเพิ่มความเสี่ยงด้วยการรับประทานอาหารสำเร็จรูป หรือเครื่องปรุงรสต่างๆมากเกินไปด้วย
สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์
bangpun@yahoo.com
แหล่งข้อมูล
foodsan.anamai.moph.go.th/ewt_dl_link.ph.
http://msds.pcd.go.th/searchName.asp?vID=768#การใช้ประโยชน์ (Uses)
หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 14 สค 55 .คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า 7