“กาดนัด” ความหลากหลายกลายเป็นปัญหา

0
1654

 ตลาดนัดเป็นขวัญใจคนบ้านเรา ด้วยความที่มีสินค้ามากมายหลากหลาย ไม่มีกฎเกณฑ์เข้มงวด ใครอยากขาย-ขาย ใครอยากซื้อ-ซื้อ ทำให้ตลาดนัดเกิดขึ้นทั่วมุมเมือง  แต่กลับเป็นปัญหาในด้านคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของอาหาร

               

       จากข่าวของกรมอนามัย เมื่อกลางเดือนมิถุนายนนี้ ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า  ผลการจากการสุ่มสำรวจอาหารดิบและอาหารปรุงสุก  ในตลาดนัด 130 แห่งในเขต กทม.และปริมณฑล ล่าสุด ในปี 2553 จาก 3,073 ตัวอย่าง ปรากฏว่า ตรวจพบสารเคมีอันตรายห้ามใช้และเชื้อแบคทีเรียสูงถึงร้อยละ 23 สูงกว่าตลาดสดทั่วไปถึง 4 เท่าตัว โดยในกลุ่มอาหารสดตรวจ 2,029 ตัวอย่าง พบสารเคมีร้อยละ 16 มากที่สุด คือ สารฟอกขาว ร้อยละ 33 รองลงมา คือ สารกันรา ฟอร์มาลิน หรือน้ำยาดองศพ และสารบอแรกซ์ หรือที่เรียกว่า ผงกรอบ โดย พบมากในหน่อไม้ดอง ผักกาดดอง และผลไม้ดอง ส่วนกลุ่มอาหารปรุงสุก ตรวจ 1,044 ตัวอย่าง พบปนเปื้อนเชื้อโรคร้อยละ 37

ด้วยตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภค มีความเสี่ยงต่อต่อโรค ทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง แต่ละปีมีผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลประมาณ 1.4 ล้านราย ส่วนผลกระทบระยะยาว คือปัญหาสารเคมีสะสมในร่างกายก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตคนไทยอันดับ 1 ติดต่อกันมา 10 ปี ปีละ 60,000 กว่าราย รวมทั้งทำให้เกิดโรคไตอักเสบ หรือไตวายได้ด้วย

ดังนั้น กระทรางสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมอนามัย จัดทำมาตรฐานและพัฒนาตลาดนัดน่าซื้อต้นแบบจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อขยายผลทุกพื้นที่ในแต่ละจังหวัด ซึ่ง มาตรฐานของตลาดนัดน่าซื้อ จะต้องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 3 ประการ ได้แก่

1.             ความสะอาดของสถานที่ เช่น แผงจำหน่ายอาหารสุกแล้วต้องยกสูงกว่าพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร และมีภาชนะปกปิดอาหาร มีห้องส้วม พร้อมอ่างล้างมือให้เพียงพอและถูกสุขลักษณะ ผู้ขายของและผู้ช่วยต้องผ่านการอบรมความรูด้านสุขาภิบาลอาหาร และไม่เป็นพาหะนำโรคติดต่อ เช่น อหิวาตกโรค บิด ไข้สุกใส หัด คางทูม วัณโรค เป็นต้น

2.             อาหารที่จำหน่ายต้องปลอดภัย ไม่มีสารต้องห้ามอย่างน้อย 4 ชนิดได้แก่ สารฟอร์มาลิน สารกันรา หรือกรดซาลิชิลิก สารบอแรกซ์ หรือน้ำประสานทอง และสารฟอกขาว และอาจจะเพิ่มเรื่องน้ำมันทอดซ้ำด้วย

3.             ต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภค คือ ผู้ประกอบกิจการตลาดนัดต้องจัดทำทะเบียนผู้ขายของในตลาดนัดทุกราย เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลกลับได้หากเกิดการเจ็บป่วยหรือการเสียหายจากการรับประทานอาหาร หรืออื่นๆ

               โดยการดำเนินจะเป็นการทำงานร่วมกีนตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ทั้งผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ร่วมกำกับดูแล กับสำนักงานสาธารณสุขประจำจังหวัด 

         

         ดังนั้น ผู้บริโภคเราๆที่เป็นผู้ซื้อ  ควรต้องตระหนักถึงมาตรฐานสินค้าและความปลอดภัย อย่างไรก็ตามเสน่ห์ของตลาดนัด ก็มีอยู่ไม่น้อยเช่น มีผักพื้นบ้านมาขาย ซึ่งก็อาจเป็นชาวบ้านที่มีผักในสวน เก็บมัดมาวางขาย บางเจ้า มี ผัก 2-3 ชนิด ขายมัดละ 5 บาท  หากเป็นตลาดสดทั่วไป กลุ่มชาวบ้านที่นำผักมาวางขาย อาจไม่สามารถจ่ายค่าแผงในตลาดได้ “กาดนัด” จึงเปิดอิสระ มีมากขายมาก มีน้อยขายน้อย

แต่ก็เป็นความจริงที่ว่า มีสินค้าจำนวนมาก ไม่มีคุณภาพ และไม่ได้มาตรฐานมาวางขาย เช่น มีรถเร่ขายยาแผนโบราณ  ขายสินค้าจากชายแดน ขายแหนมสีส้มเข้ม ขายอาหารไม่ปกปิดภาชนะ ขายไก่ทอดน้ำมันทอดด้ำดำ กระทะเขอะ เป็นต้น

         

        และที่เป็นปัญหาคือ แม้สินค้าไม่มีคุณภาพ ก็ยังคนซื้อ โดยไม่คำนึงถึงหลักการคุ้มครองผู้บริโภค  ส่วนหนึ่งก็คือแรงงานต่างด้าว ที่เป็นกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่ของตลาดนัดทุกแห่ง

ดังนั้นการทำตลาดนัดน่าซื้อ จึงควรพิจารณาองค์ประกอบหลายด้าน เพื่อให้สามารถคงความเป็น “กาดนัด”ของชาวบ้าน และขณะเดียวกันก็มีทิศทางการพัฒนาด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในตลาดนัดให้มากขึ้น

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]

 

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่  3 กค 55 คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7