สนใจคำเตือนในการใช้ยามากน้อยเพียงใด

0
2015

“ยา” มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ ต่อชีวิต ทุกครั้งที่เรากินยา เราเคยสนใจคำเตือนในการใช้ยามากน้อยเพียงใด เพราะปัจจุบัน มีข้อมูลว่า ยา ก็เป็นส่วนหนึ่งของอาการป่วยของเราได้ หากเราใช้ยาไม่ถูกต้อง

 

ขอยกตัวอย่าง คำเตือนในการใช้ยา ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๕

ตัวอย่าง

 ยาเม็ดลดกรด อะลูมินา-แมกนีเซีย-ไซเมธิโคน  มีคำเตือนว่า  ๑) ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคไต ๒) ไม่ควรรับประทานเป็นเวลานานกว่า ๒ สัปดาห์ ๓) ในกรณีที่รับประทานยานี้ร่วมกับยาอื่น ควรรับประทานห่างกัน ๒ ชั่วโม

ตัวอย่าง

  ยาผงฟู่ซิตริกแอซิด – โซเดียมไบคาร์บอเนต – โซเดียมคาร์บอเนต มีคำเตือนว่า  ๑) ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคไต ๒) ไม่ควรรับประทานเป็นเวลานานกว่า ๒ สัปดาห์ นอกจากแพทย์สั่ง  การเก็บรักษา เก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน ๓๐ องศาเซลเซียส

 ตัวอย่าง

 ยาผงถ่านรักษาอาการท้องเสีย มีคำเตือนว่า  ๑) ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับยาอื่น ๒) รับประทานยาผงถ่านนี้แล้วอุจจาระจะมีสีค่อนข้างดำ ๓) ถ้าอาการท้องเสียยังไม่ดีขึ้นภายใน ๒ – ๓ วัน หลังรับประทานยา ควรปรึกษาแพทย์  การเก็บรักษา เก็บในแห้ง และอุณหภูมิต่ำกว่า ๓๐ องศาเซลเซียส

                จากตัวอย่างที่ยกมา แม้เป็นยาสามัญประจำบ้าน ตามประกาศกระทรวง แต่เมื่ออ่านคำเตือนก็จะเห็นว่า เป็นคำเตือนที่ควรสนใจ และถือปฏิบัติ และหากเรามองไปถึงยาปฏิชีวนะก็จะยิ่งเห็นปัญหาและเป็นปัญหาใหญ่ของการใช้ยาในประเทศของเรา ที่ก่อให้เกิดภาวะดื้อยา การรักษาไม่ได้ผลและก่อผลข้างเคียงมากมาย ทั้งนี้เพราะ ไม่สนใจ คำเตือน นั่นหมายความว่า ไม่สนใจการอ่านฉลากให้ถ้วนถี่ เพราะคำเตือนที่สำคัญจะเป็นส่วนหนึ่งของฉลากยา

                และมีไม่น้อยที่สนใจอ่านฉลากเพียงวิธีใช้เท่านั้น ไม่สนใจคำเตือนถึงข้อห้าม ข้อควรระวัง ผลข้างเคียง และการเก็บรักษา ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นส่วนสำคัญต่อประสิทธิภาพของการใช้ยา

                แต่ ในความเป็นจริง ผู้ป่วยหรือผู้บริโภค อาจไม่สามารถอ่านหรือได้รับยาที่มีฉลากครบถ้วนตามการบรรุจำหน่าย เพราะ การรับยาจากโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล จะเป็นการแบ่งยา ใส่ซองยาที่มีฉลาก บอกชื่อยา วิธีใช้ยา และคำเตือนในการใช้ยา ซึ่งจะระบุสั้นๆ ไม่ยืดยาวหรือไม่ละเอียดเหมือนในเอกสารกำกับยา แต่ก็ถือเป็นมาตรฐานฉลากยาจากสถานพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยและญาติต้องอ่านและทำความเข้าใจ

           

         นอกจากนี้ เวลารับการตรวจรักษาในโรงพยาบาล จะมีแพทย์ให้การแนะนำเกี่ยวกับยาที่จะให้ใช้  และเมื่อรับยาก็จะมีเภสัชกรแนะนำ ซึ่งผู้ป่วยหรือญาติควรตั้งใจฟัง หากไม่เข้าใจควรถามให้เข้าใจ หากจำไม่ได้ควรจดไว้ หรือขอเภสัชกรเขียนเพิ่มเติม (แต่ปกติก็จะเขียนไว้ที่ฉลากแล้ว)

              ส่วนการซื้อยาเองจากร้านขายยา ก็จะมีกลุ่มยาหลายประเภท เช่น กลุ่มยาบรรจุพร้อมกล่องหรือขวดที่จะมีฉลากและเอกสารกำกับยา ก็จะไม่ค่อยมีปัญหาแต่ก็ควรซื้อและใช้อย่างเข้าใจ  อีกกลุ่มคือจะมีการแบ่งใส่ซองยา(ซึ่งก็มักเป็นยาปฏิชีวนะ)  หรือแยกเป็นแผง ซึ่งมีแต่ชื่อยา หรือเครื่องหมายการค้า ทำให้ไม่มีฉลากให้อ่าน

                    ดังนั้น ปัญหาเหล่านี้ จะแก้ไขได้ เราต้องซื้อยาที่มีเภสัชกรประจำร้าน ในเวลาที่เราไปซื้อ เพราะจะทำให้เราได้รายละเอียดเพิ่มเติม

           ปัญหาคือ ส่วนมาก เราไปซื้อยาในขณะที่ไม่มีเภสัชกรอยู่(ยกเว้นร้านที่เภสัชกรอยู่ประจำตลอดเวลา ซึ่งควรเป็นเช่นนั้นตามกฎหมาย แต่….) เราก็อาจได้ข้อมูลไม่ครบ ขณะเดียวกันก็มีไม่น้อยที่ผู้ซื้อเองก็ไม่ค่อยสนใจจะถามหรือฟังคำแนะนำ

                นอกจากนี้ ปัญหาความไม่รู้ ,ความเชื่อที่ผิด, หรือทัศนคติที่ผิด ก็ทำให้ผู้บริโภคหรือผู้ป่วยไม่สนใจในการใช้ยาให้ถูกโรค ถูกต้อง ถูกเวลา ถูกคน  เช่น บทสนทนาในร้านขายยา  “ซื้อยาแก้อักเสบ”  “เจ็บคอ” “เอาแบบแคปซูล” “ราคา…” กิน 3 วันนะ กินให้หมด” เอายี่ห้อ..นั้นน่ะ อันนี้เคยกินแล้วไม่หาย”…ฯลฯ

        ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นี่คือภาพสะท้อนการใช้ยาที่ไม่ถูกและการขายก็อาจไม่เหมาะสม การขายที่ดีควรใช้เวลาซักถามผู้ซื้อ แก้ไขความเข้าใจผิดและให้คำแนะนำ หากเห็นว่าไม่เหมาะสม ควรปฏิเสธการขายหรือให้คำแนะนำใหม่ เช่น คนเป็นหวัดคัดน้ำมูก มาซื้อยาปฏิชีวนะ ก็ควรให้คำแนะนำ

          และควรเขียนฉลากตามมาตรฐาน ชื่อยาต้องเขียนชัดอ่านได้ วิธีการใช้ยาต้องระบุ,มีคำเตือนและวันที่จ่ายยา ซึ่งในความเป็นจริงแทบไม่มีการเขียน หรือเขียนชื่อด้วยลายมือหวัดๆไม่ว่าภาษาไทยหรืออังกฤษ คนซื้ออ่านไม่ออก ไม่กล้าถามด้วย   บางก็เขียนแต่วิธีกินยา ไม่เขียนชื่อ เวลามีปัญหาแพ้ยา คนซื้อก็ไม่ทราบชื่อยา บางคนใจร้อนกินไม่หายไปซื้อยาใหม่ ก็ได้ยาใหม่ ชื่ออะไรไม่รู้ ยาเก่าที่กินก็ชื่ออะไรไม่รู้  ยาเหลือก็ชื่อยาอะไรไม่รู้

                อ่านฉลากยาให้ถ้วนถี่  สนใจคำเตือน และหากไม่รู้ ไม่เข้าใจ ควรถามหมอและเภสัชกร ก่อนใช้ยา เพราะ “ยา”อาจเป็นอันตราย แทนที่จะช่วยรักษาอาการป่วย หากยังใช้ไม่ถูกต้อง

        การซื้อยาเป็นสิทธิก็จริง แต่พึงระลึกเสมอว่า การใช้ยา เพื่อจุดมุ่งหมายรักษาโรคให้ถูกต้องถูกโรค ไม่ใช่อยากซื้ออย่างไรก็ได้ ไม่สนใจคำเตือน ไม่สนใจข้อแนะนำจากหมอหรือเภสัชกร และอย่าลืมว่า การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง จะเป็นทุนสำหรับตัวเรายามเจ็บป่วย นอกจากนี้อาหารการกิน,การมีกำลังใจ,การออกกำลังกายที่เหมาะสม,การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ จะเป็นส่วนสำคัญในการรักษานอกจาก “ยา”

          อย่าซื้อยา/กินยาตามตามคำบอกต่อ ตามเพื่อน ตาม “คนเคยกิน”

         และที่สำคัญ ในยุคนี้ การโฆษณา “ยา” ที่แอบแฝงมาในรูปแบบต่างๆ มีวิธีการซับซ้อนในระบบยาของบ้านเรา 

         ผู้บริโภคจึงควรรู้เท่าทัน และตระหนักถึง “การตลาด”ของ “ยา” และระวังค่านิยมหรือความเชื่อผิดผิดในการใช้ยา

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่  .10 กค …คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7

แหล่งข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา