“ชอบโฆษณา” ระวังค่านิยมผิดผิด แถมปิดบังข้อมูล

0
2702

ยุคนี้โฆษณามีอิทธิพลมากต่อผู้บริโภค กระตุ้นความต้องการ ความอยาก กระตุ้นความกลัว กระตุ้นความฝัน สามารถทำให้ผู้บริโภคคิดถึงระดับว่าจำเป็นต้องซื้อจำเป็นต้องใช้เลย ทีเดียว  ซึ่งนั่นคือเป้าหมายโฆษณา ที่ต้องการขายสินค้า อันเป็นธรรมดาของการค้าการขาย แต่ในความเป็นจริง กลับเป็นด่านแรกของสร้างค่านิยมผิดๆ หรืออาจปิดบังข้อมูล บิดเบือนความเสี่ยงต่อสุขภาพ

ด้วยคำพูดเดียวกันของผู้คนทั่วไป  ไม่อาจสร้างพลังจูงใจให้กับคนฟังในวงกว้าง แต่เมื่อคำพูดนั้นออกมาจากดารา ออกมาจากบุคลลที่มีชื่อเสียง หรือบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ กลับสร้างกระแสความสนใจ ความเชื่อและความชื่นชอบ และยิ่งสร้างกระทบมากขึ้นเมื่อ ถูกนำเสนอในรูปแบบของโฆษณา ซึ่งมีเทคนิค ของการสร้างเรื่องราว ด้วยแสง สี เสียง และเทคนิคของการถ่ายทำโฆษณา อีกทั้งการใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์ ที่สามารถตกแต่งปรับลบทำใหม่ สร้างความตื่นตาตื่นใจ ส่งผลให้ความฝันและจินตนาการของคนเราเสมือนใกล้ความจริง ทำให้ยุคนี้กลับเป็นว่า มีคนชื่นชอบโฆษณา จำนวนมาก ดูไปเพลินไป ได้อรรถรสที่พึงพอใจ ดูได้บ่อยๆ ติดอกติดใจกับคำพูดท่าทางการแสดง เกิดคล้อยตามโฆษณา โดยไม่ติดใจวิเคราะห์

หากเราดูบ่อย เราก็ซึมซับ เราดูไปเพลินไป แม้บางครั้งเรารู้ตัวว่า ดาราถูกจ้างมาโฆษณา แต่ด้วยความที่เราดูบ่อยดูเพลิน เราก็รับเอาความรู้สึกคล้อยตาม หรือจดจำยี่ห้อ จำภาพจำเรื่องราวได้ เมื่อเราไปซื้อสินค้า เราก็ติดภาพของโฆษณาเหล่านั้นประกอบการตัดสินใจซื้อ ซึ่งมักจะแฝงด้วยการสร้างค่านิยมผิด หรือให้ข้อมูลบิดเบือน เพียงเพื่อป้องกันปัญหาทางกฎหมาย

มีโฆษณาผงปรุงรส  ใช้ความน่ารักของเด็กที่เป็นพรีเซนเตอร์ ใช้คำที่โดนใจคนฟัง ใครๆก็ว่าน่ารัก สร้างนิยมการใช้ผงปรุงรส ซึ่งอาจไม่น่าเป็นห่วงอะไร หากเราคิดว่าเป็นความชอบของแต่ละบุคคลว่า จะต้องให้ความอร่อยตามรสปรุงแต่ง แต่หากในความเป็นจริง ด้วยรสชาติของการปรุงแต่งเหล่านี้ นำมาซึ่งภัยอันตรายจากส่วนประกอบของสารสังเคราะห์ในการแต่งสี แต่งรส แต่งกลิ่น ซึ่งโฆษณาจะไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้

ดังนั้น ทุกครั้งที่ได้รับชมโฆษณา ควรตั้งคำถามให้ฉุกใจคิด ยิ่งกับเด็กๆแล้วละก็ควรชวนคุยชวนคิด เพื่อให้เกิดวิเคราะห์ แยกถูกแยกผิด แยกจริงไม่จริง และอาจช่วยกันหาความจริง เพื่อให้การชมโฆษณาครั้งต่อไป มีข้อมูลมาเป็นเกราะคุ้มครองเราและลูกหลานของเรา เด็กจะได้รู้เท่าทัน

อย่างไรก็ตาม เราควรแบ่งเวลาให้เด็กได้เรียนรู้ในชีวิตจริงอย่างอื่นด้วย ไม่ควรปล่อยให้อยู่กับสื่อทีวี อินเตอร์เนต อยู่ตลอดเวลา เพราะเด็กควรได้รู้ว่ายังมีทางเลือกอื่น  ที่ไม่ใช่การซื้อเสียทุกอย่าง และที่สำคัญไม่ใช่รับข้อมูลจากการโฆษณาเพียงอย่างเดียว

การมีหลักคิดวิเคราะห์ จะช่วยรู้เท่าทัน เพราะรูปแบบโฆษณาในปัจจุบัน มีความหลากหลาย ซับซ้อนและมีช่องทางจากสื่อใหม่ๆ รวมทั้งการใช้เครื่องมือสื่อสารเป็นพื้นที่โฆษณา

นอกจากนี้การรู้ทันตนเอง วิเคราะห์ตนเองก็มีส่วนสำคัญ

©สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์