บ่าซัก มะซัก หรือ มะคำดีควาย เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้ในผลิตภัณฑ์สบู่หรือ แชมพูสระผม แต่สมัยก่อน จะใช้หน่วยบ่าซัก(ภาษาเหนือ “หน่วย”หมายถึงผล บางทีก็รวมถึงเมล็ดด้วย) เป็นยาพื้นบ้านรักษาชันนะตุในเด็ก (โรคผิวหนังพุพองบนศีรษะเด็ก) ใช้เข้ากับยาหลายขนาน ใช้ในกระบวนย้อมผ้า และก็ใช้ซักผ้า
คำเมืองเรียก บ่าซัก ภาคกลางเรียก มะคำดีควาย ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sapindus rarak A. DC. มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Soap Nut Tree หรือ soapberry ซึ่งก็มีความหมายตรงถึงลักษณะของสบู่ ทำให้นึกถึงความมีฟอง
ในป่ายังพอมีต้นบ่าซักอยู่บ้างแม้ว่าจะลดลง แต่หลายคนสนใจที่จะปลูกต้นบ่าซัก ไว้เพื่อการอนุรักษ์ และใช้เป็นสมุนไพร บ่าซักจะมีลำต้นสูง ถึง 10 เมตร แต่ก็เป็นพืชที่ไม้ต้องดูแลมาก เพราะธรรมชาติเป็นไม้ป่า หากจะขยายพันธุ์ควรใช้เมล็ดแห้งที่เก็บเอง เพราะหากซื้อมาอาจผ่านการอบมาแล้ว จะทำให้เมล็ดไม่งอก
ส่วนที่นำมาใช้คือ ส่วนผล (หน่วยบ่าซัก) ซึ่งมีรูปลักษณะค่อนข้างกลม ออกรวมกันเป็นพวง เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือสีดำ นำมาผลสดมาอบหรือตากแดด เพื่อเก็บไว้ใช้
มะคำดีควาย นอกจากเป็นสมุนไพรพื้นบ้านแล้ว ยังเป็นสมุนไพรสาธารณสุขมูลฐาน โดยมีข้อมูลจากสถาบันแพทย์แผนไทย กล่าวถึงสรรพคุณมากมาย เช่น
ใบ นำมาปรุงใช้เป็นยาแก้พิษกาฬ แก้ ทุราวสา
เปลือกลำต้น นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยา แก้พิษไข้ แก้พิษร้อน แก้ฝีอักเสบ แก้ฝีหัว คว่ำ และเป็นยาแก้กษัยเป็นต้น
เมล็ด ใช้เมล็ดสด หรือแห้ง นำมาตำให้ ละเอียด ใช้พอกหรือเอามาละลายน้ำล้างแผล แก้โรคผิวหนัง
ผล ใช้ผลที่แห้งนำมาคั่วให้เกรียม จาก นั้นใช้ปรุงเป็นยาดับพิษได้ทุกชนิด แก้กาฬภายใน แก้ไข้ แก้หืด หอบ แก้โรคผิวหนัง และแก้เสลดสุมฝีที่เปื่อยพัง
ผลมะคำดีควาย มีสารซาโปนิน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นฟอง และที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา ที่ทำให้เกิดโรคกลากได้ดี ซึ่งสารซาโปนิน ไกลโคไซด์ ในมะคำดีควาย มีคุณสมบัติที่ดี สามารถชำระล้างได้ดี คล้ายผงซักฟอก แชมพูและสบู่ ซึ่งในสมัยก่อน ก็มีการใช้สำหรับซักผ้า สะผม ซึ่งก็คือสารซาโปนินที่ออกฤทธิ์ ทำหน้าเป็นสารลดแรงตึงผิว หากนำผลบ่าซัก มาทุบ หรือแกะเอาเนื้อผลมาทุบ แล้วเอามาเขย่ากับน้ำก็จะเกิดฟองอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้มะคำดีควายยังมีสรรพคุณทางยามากมาย จึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่นำมะคำดีควายมาเป็นส่วนประกอบ เช่น แชมพูมะคำดีควาย สบู่มะคำดีควาย เป็นต้น
บ่าซัก หรือมะคำดีควาย จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ และมีคุณค่าทางยาด้วย พบเห็นต้นบ่าซักที่ไหน อย่าได้ทำลาย และช่วยกันหามาปลูกเพิ่มในพื้นที่ป่า หรือในสวนในไร่ของคุณ
สุภฎารัตน์
ขอบคุณข้อมูลจากสถาบันแพทย์แผนไทย