มีดอกบุนนาคที่สวนต้นหนึ่ง สวยใส หอมชื่นใจ
วันก่อนได้เจอเภสัชกรที่ อ.เวียงแหง เล่าว่า ที่เวียงแหงชาวบ้านนิยมปลูกดอกบุนนาค แถวโรงพยาบาลเวียงแหง มีต้นบุนนาคอยู่รอบโรงพยาบาลเลยทีเดียว
ลองจิตนาการดูว่า ถ้าดอกสวยงามอย่างนี้ ชูช่อเต็มต้นจะประมาณไหน
พอมีที่ไว้ให้ดอกบุนนาคสักต้น คงดีไม่น้อย
∞สุภฎารัตน์
punnamjai@gmail.com
ข้อมูลเพิ่มเติม
ดอกบุนนาค เป็นดอกไม้บูชา มาตั้งครั้งพุทธกาล จาก http://www.dhammajak.net ได้เล่าถึงดอกบุนนาคว่า
ดอกบุนนาค ปรากฎในพระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน หัวข้อ ‘ปุนนาคปุปผิยเถราปทาน’ ได้กล่าวถึง ผลแห่งการถวาย ‘ดอกบุนนาค’ บูชาของพระปุนนาคปุปผิยเถระ ไว้ว่า
“เราเป็นพรานเข้าไป (หยั่งลง) ยังป่าใหญ่ เราได้พบต้นบุนนาคมีดอกบาน จึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ได้เลือกเก็บดอกบุนนาคนั้น เอาแต่ที่มีกลิ่นหอมสวยงาม แล้วก่อสถูปบนเนินทรายบูชาแด่พระพุทธเจ้าในกัลปที่ 92 แต่กัลปนี้ เราได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา ในกัลปที่ 91 แต่กัลปนี้ ได้มีพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า ตโมนุทะ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ มีพลมาก คุณวิเศษเหล่านี้ คือปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และอภิญญา 6 เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้”
และในหัวข้อ ‘คิริปุนนาคิยเถราปทาน’ ได้กล่าวถึง ผลแห่งการถวาย ‘ดอกบุนนาค’ บูชาของพระคิริปุนนาคิยเถระ ไว้ว่า
“ครั้งนั้น พระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโสภิตะ ประทับอยู่ที่ภูเขาจิตตกูฏ เราได้ถือเอาดอกบุนนาคเข้ามาบูชาพระสยัมภูในกัลปที่ 94 แต่กัลปนี้เราได้บูชาพระสัมพุทธเจ้า ด้วยการบูชานั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้”
ดอกบุนนาคกับความเชื่อของคนไทย
คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นบุนนาคไว้ประจำบ้านจะทำให้เป็นผู้มีความประเสริฐและมีบุญ เพราะบุนนาคคือผู้มีบุญผู้ประเสริฐ และยังเชื่ออีกว่ายังสามารถป้องกันภัยอันตรายจากภายนอกได้อีกด้วย เพราะใบของบุนนาคสามารถรักษาพิษสัตว์ต่างๆ ได้ เช่น พิษงู นอกจากนี้แล้ว นาคยังหมายถึงพญานาค ซึ่งเป็นพญาสัตว์ชนิดหนึ่งในสมัยพุทธกาล ที่มีแสนยานุภาพในอันที่จะปกป้องและคุ้มครองพิษภัยได้
สำหรับการศึกษา ในด้านพฤษศาสตร์และสมุนไพร มีข้อมูลดังนี้
ดอกบุนนาคมีชื่อวิทยาศาสตร์ : Mesua ferrea L. ชื่อสามัญ : Iron wood, Indian rose chestnut อยู่ในวงศ์ : GUTTIFERAE มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ คือ ก๊าก่อ ก้ำก่อ นาคบุตร ปะนาคอ สารภีดอย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ประเภทไม้ เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15-25 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ไม่ผลัดใบ
ลักษณะใบ เป็นใบเดี่ยว แผ่นใบหนา รูปหอกหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก ขนาดกว้าง 2-3 ซม. ยาว 8-12 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ผิวใบเรียบเกลี้ยง ท้องใบมีคราบขาวปกคลุม
ลักษณะดอก เป็นดอกเดี่ยว หรือเกิดเป็นกระจุกตามง่ามใบ กลีบดอกสีขาวจนถึงสีเหลืองอ่อน ระยะออกดอก ระหว่างช่วงฤดูร้อนถึงฤดูฝน
ลักษณะผล รูปไข่ ส่วนปลายโค้งแหลม โดยยังมีส่วนกลีบรองดอกขยายใหญ่ขึ้นติดอยู่ ภายในมีเมล็ด 1-2 เมล็ด
บุนนาคเป็นพืชที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น คือใช้ในด้านสมุนไพร และใช้ประโยชน์จากไม้
สำหรับประโยชน์ด้านสมุนไพรที่นิยมกันมาก คือส่วนของดอก ซึ่ง
ดอกบุนนาคเป็นหนึ่งใน พิกัดเกสรทั้ง 5 ประกอบด้วยดอก 5 อย่างแต่ละอย่างมีสรรพคุณ คือ
เกสรบัวหลวง จัดเป็นตัวยารสฝาดหอม แก้ไข้เพื่อลมและโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงครรภรักษา แก้ไข้รากสาด
ดอกมะลิ จัดเป็นตัวยารสหอมเย็น แก้ไข้ ร้อนในกระหายน้ำ ดับพิษร้อน บำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์ แก้เจ็บตา
ดอกพิกุล จัดเป็นตัวยารสหอมสุขุม แก้ลม บำรุงโลหิต แก้ไข้จับหมดสติ
ดอกบุนนาค จัดเป็นตัวยารสหอมเย็นขม บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น บำรุงโลหิต แก้ร้อนใน กระสับกระส่าย ชูกำลัง
ดอกสารภี จัดเป็นตัวยารสหอมเย็นขม แก้โลหิตพิการ แก้ไข้ที่มีพิษร้อน บำรุงหัวใจ ชูกำลัง เจริญอาหาร
นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณของส่วนดอกส่วนอื่นๆ คือ
ดอก – กลั่นให้น้ำมันหอมระเหย ใช้ในการอบเครื่องหอมได้ดี ใช้แต่งกลิ่นสบู่ ส่วนดอกแห้ง ใช้เข้ายาหอม แต่งกลิ่นแต่งรสทำให้รับประทานง่าย เป็นยาหอมบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น บำรุงหัวใจ เป็นยาขับเสมหะบำรุงโลหิต แก้ร้อนกระสับกระส่าย แก้ลมกองละเอียด ซึ่งทำให้หน้ามืดวิงเวียนใจสั่น อ่อนเพลีย หัวใจหวิว ทำให้ชูกำลัง
ผล – ขับเหงื่อ ฝาดสมาน
ใบ – รักษาบาดแผลสด พอกบาดแผลสด แก้พิษงู
แก่น – แก้เลือดออกตามไรฟัน
ราก – ขับลมในลำไส้
เปลือก – ฟอกน้ำเหลือง กระจายหนอง
กระพี้ – แก้เสมหะในคอ
แหล่งข้อมูล
http://www.samunpri.com/modules.php?name=Kana2&file=5
http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_03.htm
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=12429