ความหมายของคำในการโฆษณาอาหาร

0
2151

จะรู้ได้อย่างไรว่าโฆษณาอาหาร ที่เราได้ยินได้ฟังได้ชมได้ดู นั้น ผิดกฎหมายหรือไม่  แต่ละคำที่ใช้นั้น เข้าข่ายหลอกลวง โม้เกินจริงหรือไม่ ก็ต้องดูในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

หลักเกณฑ์แรกคือการดูจากกฎหมาย จากประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ว่าด้วยเรื่อง หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2551 ซึ่งมีการกำหนดให้ผู้ประสงค์จะโฆษณา คุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหาร ทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใด เพื่อประโยชน์ทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณา  ให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้

ซึ่งจากข้อกำหนดดังกล่าว เราจะเห็นว่า มีอย่างน้อย 2 ประการที่เราต้องขยายความเพิ่มเติม ประการแรกคือช่องทางสื่อ ที่ไม่ได้กล่าวถึงสื่อใหม่ๆ เช่นอินเตอร์เนต ซึ่งมีกำหนดในมติสมัชชาสุขภาพ ที่ครอบคลุมถึงอินเตอร์เนตด้วย และก็หมายถึง มีแนวทางอื่นๆที่จะเป็นองค์ประกอบครอบคลุมมากขึ้น ที่เกี่ยวกับการโฆษณาอาหาร เช่น กสทช. ,สคบ, และองค์กรผู้บริโภค ประการที่สอง หน่วยงาน ที่เป็นผู้อนุญาต คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งในแต่ละจังหวัดมีเป็นการดำเนินงานโดยสำนักงานสาธารณสุขประจำจังหวัด

                อย่างไรก็ตาม หากยึดถือ หลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2551 ก็จะเห็นว่ามีสาระความรู้ที่ผู้บริโภคควรศึกษา เพื่อเป็นการพิทักษ์สิทธิและการช่วยกันเฝ้าระวังการโฆษณาอาหารที่หลอกลวงหรือผิดกฏหมาย   ซึ่งมีคำอธิบายความหมายที่น่าสนใจ เช่น

                คำว่า การโฆษณา หมายความรวมถึงการกระทำด้วยวิธีการใดๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ทางการค้า หลักการปฏิบัติโฆษณาอาหารที่กฎหมายกำหนดให้ต้องขออนุญาตผลิต หรือนำเข้า นั้นสามารถโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ ของอาหาร เฉพาะที่ได้รับอนุญาตในฉลาก โดยต้องไม่เป็นความเท็จหรือเกินความจริง และไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของอาหาร และให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร หากมีการโฆษณากล่าวอ้างสรรพคุณทางสุขภาพนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตในฉลาก ต้องนำผลการศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์อาหาร บทความรู้ หรือข้อมูลทางวิชาการ มาประกอบการขออนุญาตโฆษณาอาหาร ซึ่งต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นจริงและเป็นปัจจุบัน อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ และตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์หรือทางวิชาการที่เชื่อถือได้ โดยจะต้องแนบเอกสารที่ได้รับการตีพิมพ์ฉบับเต็มมาระกอบการพิจารณาด้วย

                การใช้คำว่า “สด” ให้ใช้ได้กับ อาหารที่เป็นผลิตผลตามธรรมชาติที่ยังไม่ได้แปรรูป เช่น พืช ผัก เนื้อสัตว์ และผลไม้ , อาหารที่กำหนดระยะเวลาจำหน่ายไม่เกิน 3 วัน นับจากวันที่ผลิต เช่น ขนมปังและ อาหารที่ได้รับอนุญาตตามฉลากอาหารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

การใช้คำว่า “ใหม่” ให้ใช้สำหรับสินค้าใหม่หรือเริ่มวางจำหน่ายเป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี

การใช้คำว่า “ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์” , ”ผลิตภัณฑ์อินทรีย์” , ”organic” หรือ“ออร์กานิก” ต้องได้รับการตรวจสอบรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ IFOAM(The International Federation of Organic Agriculture Movements) หรือตามคำแนะนำของกรรมาธิการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex)

การใช้คำว่า “ธรรมชาติ” ให้ใช้ได้สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ พืช ผักเนื้อสัตว์ และผลไม้ เป็นต้น เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านกรรมวิธี แปรรูปหรือกรรมวิธีการผลิตเบื้องต้น ที่ไม่มีการเติมวัตถุเจือปนอาหาร, สี, กลิ่น, วิตามิน และเกลือแร่

การใช้คำว่า “ปลอดภัย” ให้ใช้ได้เมื่อมีการแสดงภาพหรือข้อความที่เกี่ยวข้องกับกรรมวิธีการผลิตและมีหลักฐานการรับรองระบบ HACCP จากหน่วยรับรองระบบ (Certified Body) ที่มีมาตรฐานตาม ISO/IEC Guide 65 หรือมาตรฐานว่าด้วย Product Certification

จากเกณฑ์ดังกล่าว เราจะเห็นว่า ปัจจุบันมีปัญหามากมายในการโฆษณาอาหาร ซึ่งมีรูปแบบวิธีการและเทคนิคการโฆษณาเปลี่ยนแปลงไปมาก  ดังนั้น หลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงเป็นแนวทางสำคัญในการพิสูจน์ว่าเป็นการโฆษณาหลอกลวง หรือผิดกฎหมาย และใช้เทคนิควิธีการใดเลี่ยงกฎหมาย

และที่สำคัญ ผู้บริโภค ต้องรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันการโฆษณาอาหาร รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยม เทคนิคด้านสื่อโฆษณา ที่กระตุ้นการซื้อ กระตุ้นให้เราอยากได้อยากมี และสร้างค่านิยมที่เหมาะสม ทำให้ ผู้บริโภคมีความเสี่ยงด้านสุขภาพและไม่คุ้มค่าการซื้อสินค้าหรือบริการเกี่ยวกับอาหาร รวมทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ

หมายเหตุ

แหล่งข้อมูล อย.

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 26 มิย 55 คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7