ถึงหน้าฝนแล้ว พี่น้องเกษตรกร คงวางแผนการปลูกไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เราๆชาวบ้านทั่วไป บางทีถึงหน้าฝน เราก็ลืมไปว่า ตัวเราเองก็ควรจะปลูกต้นไม้ด้วย คนบ้านเรามีการปลูกพืชตามฤดูกาลปลูกในบ้าน ในสวน เป็นวัฒนธรรมของเราด้วย เป็นวิถืของเรามาแต่ดั้งเดิม แม้การเปลี่ยนแปลงจะถาโถมมาทุกวัน แต่หากเราไม่ลืมดิน เราก็จะสามารถประยุกต์ได้ทุกสถานการณ์
หากเราจะดูจากสถานการณ์ของพื้นที่ทำกินส่วนใหญ่ในประเทศไทยเรา จะพบว่าเดี๋ยวนี้ตกอยู่ในมือของกลุ่มนายทุน กลุ่มร่วมทุนหรือร่วมครอบครัวจากต่างชาติ หรือกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่เกษตรกร และกลุ่มนี้ก็จะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านจำนวนไม่น้อย เช่าที่ดั้งเดิมของตนเองแต่ขายไปแล้ว พื้นที่ทำการเกษตรภาคเหนือจึงลดขนาดและลดคุณภาพเดิมลง เป็นพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นพื้นที่สวนยาง เป็นพื้นที่รอการขาย
บางท่านมีพื้นที่ว่างเปล่าไม่รู้จะทำอะไร ไม่ได้ปลูกอะไรปล่อยให้รกร้าง ปีแล้วปีเล่าผ่านไป ก็ไม่ได้ทำอะไร อย่างนี้น่าเสียดายพื้นที่มาก อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่เป็นนายทุนหรือคนที่มากว๊านซื้อที่จากชาวบ้าน แล้วก็ทิ้งไว้เฉยๆก่อน รอการลงทุนหรือขายต่อ
แต่ในขณะเดียวกันพื้นที่ ในบ้านของเรา ในสวนของเรา ก็มีขนาดลดลง แบ่งกันหมู่พี่น้อง แบ่งขาย สร้างบ้าน ขยายตัวบ้าน เทปูน ใส่ตัวหนอน
ความรู้ ความผูกพันกับการปลูกลดลง ยิ่งรุ่นหนุ่มสาวเด็กๆ ก็ยิ่งห่างไกล เพราะสังคมและค่านยิมสนับสนุนและกระตุ้นให้มีการซื้อ เพราะสะดวก สบาย การเรียนหนังสือ เทคโนโลยีใหม่ๆก็ดึงเวลาเอาไปเกือบหมด ทำให้โอกาสสัมผัสดินหญ้า ก็ลดลง
ชนิดของพันธุ์พืช ก็เป็นตัวแปรสำคัญยิ่ง พันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมหายไป การใช้ปุ๋ย ใช้สารเคมีมากขึ้น ต้นทุนก็สูง ปลูกต้นไม้แล้วมีความทุกข์ แทนที่จะมีความสุข วิตกกังวลไปสารพัด
แต่ไม่ว่าอย่างไร ลองเราตั้งใจละก็ การปลูกต้นไม้ทำได้ทุกคน ทำได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ วันนี้เราลองมาวางแผนกันนะคะว่า เราจะสามารถปลูกอะไรได้บ้าง แต่ขอเป็นการวางแผนการปลูกที่ไม่ใช้สารเคมีนะคะ
1. เริ่มจากการวางจุดมุ่งหมายก่อนว่าจะปลูกเพื่ออะไร ปลูกแบบไหน เอาว่าในทีนี้ เรามาตั้งใจปลูกไม่ใช้สารเคมีกัน นอกจากปลอดภัยต่อเราผู้ปลูก กินหรือเอาไปใช้เป็นสมุนไพรก็ปลอดภัย ต้นทุนก็ลดลง หันมาใช้ปุ๋ยหมักหรือวิธีการดูแลโดยไม่ใช้สารเคมี
2. สำรวจพื้นที่ บริเวณที่เราจะปลูก เราควรสำรวจก่อน ก็จะช่วยให้เราวางแผนได้
2. สำรวจเมล็ดพันธุ์,ต้นกล้า ที่มีในบ้าน ดูว่า ในบ้านมืพืชอะไรอยู่ จะตัดกิ่งชำได้ไหม จะตอนได้ไหม จากนั้นค่อยดูว่า หากจะซื้อเพิ่ม จะซื้ออะไร
3. หากมีการซื้อ ควรวางแผนก่อนว่า จะซื้ออะไร แบบไหน ชนิดของพืช หากเป็นพืชผักสวนครัว ควรเป็นพืชตามฤดูกาล ใช้เมล็ดพันธุ์ กิ่งพันธุ์ของพื้นเมือง สำหรับปุ๋ย ไม่ควรเริ่มต้นว่า จะซื้อปุ๋ย ควรเริ่มต้นว่า เราจะปลูกพืชอะไร พืชชนิดนั้น ทำความรู้จักกับพืชที่เราปลูกก่อน อย่าเพิ่งกังวลว่า เมื่อไหร่จะได้กิน ได้ผล ได้ดอก ทำไมไม่มีผล ไม่มีดอก ค่อยๆรู้จัก ค่อยๆเรียนรู้ ใจเย็นๆ
4.คำนึงถึงความหลากหลายของพันธุ์พืช คำนึงถึงความหลากหลายของประโยชน์จากพืช คำนึงถึงการหนุนเกื้อกันของพืชของดิน นิสัยของพืช ธรรมชาติของพืช อย่าเพิ่งคิดว่าไม่รู้ไม่เป็น ถามคนที่รู้ ค้นคว้าจากหนังสือ หรือดูจากเว๊บไซต์ แล้วนำมาวิเคราะห์ดู(ระวังโฆษณาปุ๋ยในเว็บไซต์หรือสื่อต่างๆ อาจหลอกลวง)
5. วางแผนการปลูกเพื่อประโยชน์ในระยะสั้น ระยะยาว คละเคล้ากัน ประเภทผักสวนครัว ประเภทเป็นสมุนไพรด้วยเป็นผักด้วย ประเภทสมุนไพรหรือยาพื้นบ้าน ประเภทพืชคลุมดิน ปะเภทไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ใหญ่หลากหลายประเภท บางชนิดเป็นสมุนไพรที่เราเอามาใช้ได้ง่ายได้บ้าน เช่น ปลูกปูเลย(ไพล)ไว้ ทำยาลูกประคบ ทำยาอาบ ทำยาอบ,ปลูกกล้วย ได้ใบ หัวปลี ผล หยวก เป็นต้น
นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เราอาจนำไปใช้ในการวางแผนปลูก ที่สำคัญ เรามีต้นทุนดีดีในชุมชน นั้นคือแต่ละชุมชนจะผู้รู้มีผู้มีประสบการณ์มากมาย จึงอยากให้แต่ละชุมชน ได้มีการประชุมแลกเปลียนเรียนรู้การปลูกในหน้าฝน ได้เรียนรู้วัฒนธรรม พิธีกรรมหรือแนวคิดเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ คนไม่รู้ได้รู้ คนรู้ได้บอกเล่า ได้ชี้แนะ เราก็จะมีครอบครัวมีชุมชนที่เพิ่มการพึ่งตนเองมากขึ้น จะมากจะน้อย ขอเพียงลงมือทำ
เตรียมปลูกพืชผักสมุนไพรต้นไม้นานาพันธุ์กั๋นเต๊อะเจ้า
©สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์