Home ผู้บริโภค สิทธิผู้บริโภค ระวังของเล่นอันตราย ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีฉลาก

ระวังของเล่นอันตราย ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีฉลาก

0

เด็ก กับของเล่น เป็นของคู่กัน เป็นทั้งเพื่อน ทั้งการเสริมพัฒนาการ ทั้งการเรียนรู้ ให้ความเพลินเพลิน พึงพอใจ มีความสุขสนุกที่ได้เป็นเจ้าของ ได้เล่น ได้อวดเพื่อน และอาจเป็นตัวแทนความรักของพ่อแม่ผู้ใหญ่ เป็นรางวัล เป็นของตอบแทน หรือสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันผ่านของเล่น

          ในอดีต ของเล่น จะมาจากธรรมชาติ ดัดแปลงสร้างสรรค์ ตามสภาพของสิ่งแวดล้อมและสังคม มาถึงวันนี้ของเล่นสมัยใหม่ กลายเป็นตลาดขนาดมหึมาที่สร้างผลกำไรมากมาย แถมคนเล่น ไม่จำกัดเพียงเด็ก เท่านั้น นอกจากความหมายของเล่น การได้เป็นเจ้าของ ก็กลายเป็นการสะสมอีกด้วย

          แม้จะมีการรื้อฟื้นของเล่นสมัยดั้งเดิม แต่ทางการตลาดแล้ว ไม่อาจแย่งพื้นที่ของเล่นสมัยใหม่ได้เลย จึงเป็นการรื้อฟื้นเชิงคุณค่า วัฒนธรรมและกลายเป็นของที่ระลึก ของตกแต่ง ของแต่งบ้าน

การพัฒนาของเล่น เพื่อการจำหน่ายมีการแข่งขันสูง มีหลายชนิด หลายยี่ห้อ สารพัดของเล่น ดังนั้น ในการคุ้มครองผู้บริโภค จึงต้องมีการกำกับดูแล  คือ

          ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ว่าด้วยฉลากเรื่อง กำหนดของเล่นสำหรับเด็กเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ของเล่นสำหรับเด็กที่จะนำออกขาย ต้องจัดให้มีฉลาก ปิด หรือติดไว้ที่ตัวของเล่นสำหรับเด็กหรือภาชนะบรรจุ หรือจัดพิมพ์ฉลากสอดแทรกหรือรวมไว้กับตัวของ ฉลากต้องใช้ข้อความเป็นภาษาไทยให้เห็นและอ่านได้ชัดเจน ระบุชื่อผู้ผลิตและสถานที่ประกอบการของผู้ผลิต ในกรณีที่เป็นสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ให้ระบุชื่อผู้นำเข้าและสถานที่ประกอบการของผู้นำเข้า ชื่อประเทศที่ผลิต คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีเล่น รวมทั้งคำแนะนำอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เช่น เกณฑ์อายุโดยเฉลี่ยของเด็กที่เหมาะหรือไม่เหมาะสำหรับให้เล่น  คำเตือนเกี่ยวกับการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น        นอกจากนี้ยังมีประกาศให้ของเล่นที่มีล้อ, ปืนของเล่น, เครื่องเล่นสนาม, ลูกโป่งบรรจุไฮโดรเจนต้องมีฉลาก ส่วนตัวดูดน้ำ ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ เป็นของเล่นที่ห้ามจำหน่าย

          แต่ก็มีปัญหาที่พบมากมายเช่น  (1)ของเล่นเด็กจำนวนมากฝ่าฝืนกฎหมายไม่มีฉลากแต่ก็มีจำหน่าย และมีของเล่นที่ห้ามขาย ก็มีขายอยู่ทั่วไป   (2)ของเล่นจากชายแดน ไม่มีฉลากภาษาไทย แต่ได้รับความนิยมมาก เพราะราคาถูก มีการออกแบบหลากหลาย มีการเลียนแบบของแพงๆ ซึ่งกลุ่มนี้อันตรายมาก ต้องระวังมากๆอย่าซื้อจะดีกว่า (3)ฉลากที่มีในของเล่นบางชนิด มีขนาดตัวอักษรเล็กมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะพื้นที่ติดฉลากเล็กตามขนาดไปด้วย  (4)เด็กอาจไม่อ่านฉลาก พุ่งความสนใจไปที่การเล่น เพราะฉลากมักติดที่กล่อง (5) เด็กและผู้ปกครอง ยังไม่ตระหนักในการอ่านฉลากก่อนซื้อก่อนเล่น  เพราะให้ความสนใจกับชนิดหรือรูปแบบเป็นตัวตั้ง

นอกจากนี้ของเล่นเด็กจะมี มาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นมาตรการสำคัญที่จะควบคุมสินค้าของเด็กเล่น เช่น การกำหนดสารตะกั่ว แต่ก็มีการสำรวจวิจัยพบว่า ของเล่น โดยเฉพาะที่มีสีเข้มๆ จะมีสารตะกั่วปนเปื้อนสูง พบในกลุ่มของเล่นที่ไม่ฉลาก ,มีฉลาก และแม้กระทั่งมีเครื่องหมายอุตสาหกรรม ดังนั้น การกำกับดูแล ของเล่นอันตราย จึงจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง

          ปัจจุบันของเล่นเด็ก มีปัจจัยต่างๆ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย  เช่น รูปแบบของเล่นที่มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น , เป็นของเล่นจากประเทศชายแดนมีมาขายมากขึ้น และที่สำคัญที่สุด แนวคิดและรูปแบบของเล่น หรือสิ่งที่มาแทนของเล่น คือเทคโนโลยี่การสื่อสาร เช่น มือถือ ,ไอแพดไอโฟน,อินเตอร์เนต,เกมส์ออนไลน์,การพนันแบบสมมุติในโลกนอกจากนี้ ผลที่ตามมาของเทคโนโลยีเหล่านี้ คือ ความสนใจของเด็ก ถูกกระตุ้นและเบี่บงเบนไปด้านอื่นๆ ในระบบออนไลน์ ตามเว๊บไซต์ต่างๆ โลกที่เด็กอยู่หน้าจอโทรทัศน์ ก็กลับอยู่หน้าจอเครื่องมือสื่อสาร และคอมพิวเตอร์ ซึ่งล้วนไม่อาจจำกัดวัยเด็กให้อยู่ตามวัยได้ จึงนับว่า เป็นปัจจัยที่ท้าทาย คุณค่าและคุณประโยชน์ จากของเล่นเด็ก

          ดังนั้นการซื้อการเล่นของเล่นเด็ก ควรตระหนักถึงความเหมาะสม ความปลอดภัย การพัฒนาการ และประโยชน์ของความเพลิดเพลิน สอนให้เด็กจัดสรรเวลา เล่นในกลางแจ้ง บ้าง รวมทั้งสอนให้เด็กรู้เท่าทันเทคโนโลยี่ ที่มีอิทธิพลต่อเด็กยุคนี้ อย่างยิ่ง

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

bangpun@yahoo.com