Home ผู้บริโภค สิทธิผู้บริโภค คำนึงถึงหลักสุขาภิบาลอาหาร เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

คำนึงถึงหลักสุขาภิบาลอาหาร เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

0

 ถนนใหญ่ ฟุตบาท ซอกตึก ซอยเล็กซอยน้อย ตลาดนัด รถเร่ รถเข็น รถพ่วง รถตู้ดัดแปลง  ล้วนมีร้านขายของทอด อาหาร ผลไม้ น้ำผลไม้ กาแฟสด กาแฟโบราณ น้ำปั่นต่างๆ อยู่ทุกหนแห่ง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และขณะเดียวกันก็สร้างความต้องการให้แก่ผู้บริโภค 

            แต่ก็มีคำถามเกี่ยวกับความสะอาด ตามหลักสุขาภิบาลอาหาร หรือสุขอนามัย ว่า จะมีความสะอาดหรือ สดใหม่จริงหรือ

           

               ซึ่งในความเป็นจริง ร้านอาหารทุกประเภท ต้องทำตามหลักการสุขาภิบาลอาหาร และคำแนะนำจากหน่วยงานสาธารณสุข โดยเฉพาะการกำกับดูแลจากฝ่ายสาธารณสุขขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีบทบาทมากขึ้น รวมทั้งมีองค์กรผู้บริโภค หรือองค์กรด้านสุขภาพช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวัง

แต่ปัญหาเหล่านี้จะไม่มาก หากเป็นร้านประจำ มีที่ตั้งแน่นอน หรือหากเป็นแผงลอยก็เป็นแผงลอยประจำ ปัญหาส่วนมากจึงอยู่ที่เป็นลักษณะการขายแบบย้ายที่ แบบรถเร่ ตลาดนัด ซึ่งยากต่อการกำกับดูแล การตั้งขายในที่ห้ามขาย ซึ่งผิดกฎหมาย เช่น บนทางเดินเท้า บนถนน ยิ่งทำให้ทั้งยากต่อการควบคุม ทั้งเป็นปัญหาว่าหน่วยงานใดจะเข้ามาดูแลตรวจสอบ จะใช้กฎหมาย หรือควรจะผ่อนปรน ซึ่งมีกฎหมายหรือระเบียบเช่น  หลักสุขาภิบาล หลักการคุ้มครองผู้บริโภค  การใช้ถนน การใช้พื้นที่สาธารณะ

ข้อกำหนดด้านสุขาภิบาลอาหาร สำหรับร้านอาหารเป็นสิ่งที่ต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แม้ว่าจะเป็นการขายแบบเร่ หรือแผงลอย ก็ต้องปรับตามหลักให้ดีที่สุด เช่น

(1) ด้านสถานที่ ความสะอาด เป็นระเบียบของสถานที่  ต้องพยายามปรับประยุกต์ให้สะอาด เป็นระเบียบ 

(2) ภาชนะ  สะอาด มีมาตรฐาน การจัดเก็บเป็นระเบียบ ล้างภาชนะสะอาด

 (3) การปรุงอาหาร  วิธีการเตรียม การปรุง

 (4) การเลือกซื้อพืชผักผลไม้ เนื้อสัตว์  การล้าง  เรื่องการล้างผักนี้มักเป็นประเด็นอยู่เสมอ มักมีผู้พบเห็นว่า ผักยังอยู่ในสภาพมัดเป็นกำอยู่เลย แม่ค้าก็เอามาหั่นซอยทำอาหารทันที สังเกตดูก็เห็นการนำผักทั้งมัดล้างแบบน้ำเดียว ส่วนการเลือกซื้อเครื่องปรุงก็สำคัญมาก หากเป็นเครื่องปรุงสำเร็จรูปต้องอ่านฉลาก หากเป็นเครื่องปรุงที่ซื้อในตลาดสดทั่วไป อย่างนี้ต้องระวัง อาจมีสารกันบูดมากเกินไป

(5) ข้อห้ามสารปลอมปน  และสารปนเปื้อนที่มากับวัตถุดิบ

 (6) การปกปิดอาหาร การปกปิดถ้วยชาม แก้วน้ำ เครื่องปรุง    ความสะอาดและการจัดเก็บ แยกประเภทตามการใช้ภาชนะ เขียง มีด  ช้อน ส้อม ตะเกียบ 

(7) การแต่งกาย  หมวก ถุงมือ ผ้าปิดจมูก ของคนทำอาหาร คนขาย คนเสริฟ รวมทั้งข้อห้ามกรณีเจ็บป่วย

 (8) การกำจัดขยะ  เศษอาหาร และน้ำเสียทุกชนิด และ(9) ห้องส้วม  มีอ่างล้างมือ เรื่องนี้ ทำได้ยากโดยเฉพาะผู้ขาย  ต้องเอาใจใส่ สำหรับการขายแบบรถเร่

ร้านขายเร่ รถขายเร่ อาจทำได้ยากในบางเรื่อง แต่หากผู้ขาย มีความตั้งใจให้ร้านของตนเอง เป็นร้านที่ดี สามารถจูงใจผู้บริโภคได้ ก็ควรต้อง วางระบบและมีวินัยปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลให้ได้มากที่สุด ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราขายได้ เราก็กินได้ เราขายของดี มีคุณภาพ ร้านสะอาดเอาใจใส่ผู้บริโภค ลูกค้าก็ตอบสนอง มีความพอใจ

             

                  บางร้านน้ำมันทอดดำ ขายไก่ทอดสีส้ม ลูกชิ้นสีแดง และมีร้านหลายเจ้า ทำอาหารอร่อย ผ่านเรื่องความอร่อย แต่ความสะอาดใช้ไม่ได้ ไม่สนใจปรับปรุง เพราะคิดว่ายังไงก็อร่อย ยังไงก็ขายได้  ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งผู้ขาย และไม่ถูกต้องทั้งผู้ซื้อ

จึงขอเรียกร้อง ร้านอาหารทุกประเภท และร้านกลุ่มรถเร่ แผงลอย ช่วยกันดูแลจัดการร้านตามหลักสุขาภิบาลอาหาร หากมีปัญหาการจัดการควรขอคำแนะนำจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข แต่หากร้านใดไม่ใส่ใจความสะอาดไม่สนใจความปลอดภัยของผู้บริโภค ก็อย่าสนับสนุนอย่าซื้อ และหากพบเห็นขอให้ช่วยแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุข /องค์กรส่วนท้องถิ่น  และองค์กรผู้บริโภค เพื่อตรวจสอบและใช้มาตรการด้านกฎหมาย หรือให้คำแนะนำปรับปรุง

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์