ได้กลิ่นหอมมะม่วงไหมคะ

0
7924

ใครที่เคยชื่นชอบมะม่วงพันธุ์พื้นเมืองละก็ คงติดใจในกลิ่นหอมที่เป็นเสน่ห์ของแต่ละชนิด บางคนเชี่ยงชาญมากถึงกับบอกได้ว่า กลิ่นไหนเป็นชนิดใด แต่น่าเสียดายว่า “บ่ะม่วง-มะม่วง” พันธุ์บ้านเฮาหายากไปทุกวันแล้วเมื่อวานแวะตลาด ได้มา 4 ชนิด ขอบอกว่าหอมมากๆค่ะ

มี 4 ชนิด คือ

มะม่วงสามปี๋ (สามปี)

มะม่วงแก้มแหม่ม

มะม่วงป้อม

มะม่วงลีบ หรือมะม่วงลืบ หรือมะม่วงเลิบ

มะม่วงสามปี๋(ปี) รสชาตจะเปรี้่ยวหวาน เนื้อมะม่วงสีเหลือง มีเสี้ยน สมัยแม่อุ้ยยังอยู่ ชอบมาก เอามากินกับข้าวเหนียว 

มะม่วงแก้มแหม่ม สีจะเข้มนิดหนึ่ง เนื้อหวานหวาน

มะม่วงป้อม สีจะเข้มมากตรงกลาง เนื้อจะบางใส รสหวานมาก (มีดไม่คม  ตัดซอยไม่สวยขออภัย)

ชนิดนี้ต้องเล่าหน่อยหนึ่ง คือ คำว่า “ป้อม” ในภาษาคำเมือง หมายถึงคำว่า “กลม,มน” บางครั้งเมื่อใช้กับลักษณะของคน ถ้าจะพูดว่า “ตั๋วป้อมๆ” ก็อาจหมายถึง เตี้ยและกลมๆอ้วนๆ

วกมาเรื่องมะม่วงป้อม ที่จริงก็จะมีมะม่วงป้อม ที่กลมป้อม จริงๆ แต่วันนี้ยังหาไม่เจอ ถ้าเจอจะเอามาฝาก

ในเมื่อไม่มีลักษณะป้อม ทำไมเรียก มะม่วงป้อม ก็เพราะว่า บางที ชาวบ้านเราก็เรียกชื่อมะม่วงรวมกันในสมัยก่อนที่มะม่วงเป็นแบบพื้นบ้าน เราก็จะเรียกรวมๆว่า มะม่วงป้อม(อาจมีหลายชนิด) มะม่วงสามปี๋ มะม่วงแก้ว

มะม่วงป้อมแบบกลมๆ หายากมากแล้วค่ะ บางหมู่บ้่านไม่เหลือสักต้นเลย ทั้งทีเมื่อก่อนเป็นผลไม้หลักในทุกบ้าน

ต้นมะม่วงพันธุ็์พื้นเมืองของเราหายไปหน ตอบได้ว่าส่วนหนึ่งหายไปกับงานไม้แกะสลักค่ะ จะมีคนออกตระเวณซื้อต้นมะม่วง ต้นเก่าแก่แค่ไหนขายได้หมด และก็หมดไปจากชุมชนจริงๆ

 

ชนิดนี้ดูเผินๆก็อาจเรียกมะม่วงป้อมได้ เพราะจะป้อมกลม แต่เขาไม่เรียก เขาจะเรียกว่า มะม่วงลีบ หรือมะม่วงลืบ

เป็นอย่างไร มาดูกันค่ะ

เวลาสุก จะมีสีเขียว ไม่เหลือง เวลาเก็บมาวางไว้ วันสองวัน ผิวจะเหียว เหมือนมะม่วงเฉา เหี่ยวๆลีบๆ

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มีคำตอบค่ะ

เพราะเวลาเรากิน เราจะปอก เนื้อมะม่วงชนิดนี้จะบางมาก ปอกออกมาแล้วเนื้อมีนิดเดียว และที่สำคัญกินไม่อร่อย

แต่

ถ้าเรากินแบบลืบ หรือแบบบีบ เราจะได้รสอร่อย

– ถ้าแบบลืบ หรือแบบเลิบ(ลืบ /เลิบ คำเมือง หมายถึง ดึงออก เช่น เลิบข้าวหลาม ก็หมายถึง ดึงเปลือกข้าวหลาม)  หมายความว่า พอเราตัดส่วนหัวออก เราก็ใช้มือ ดึงเปลือกมันออก ก็จะมีเนื้อหุ้มเมล็ด เราก็แทะกันอย่างนั้นเลยค่ะ ฉ่ำน้ำมากๆอร่อย กินแบบชาวบ้านเฮานี่แหละ

-ถ้ากินแบบบีบ พอเราตัดส่วนหัวออกนิดหนึ่ง เราก็บีบๆ ก็อย่างที่บอก ผิวมันจะเหี่ยวๆ เหมือนจะบอกว่า บีบฉันตามรอยเหี่ยวนะ ประมาณนั้ พอบีบ ส่วนเมล็ดจะหลุดออกมา เหลือส่วนเนื้อติดกับเปลือก เราก็กินตามสะดวก ใช้ช้อนขุดตักกิน หรือแทะกินแบบประสาเราๆ ก็ไม่ว่ากัน

ทั้งสองวิธีกินแล้วอร่อย

มะม่วงลืบ หรือมะม่วงเลิบ นี้ เรียกอีกชื่อว่า มะม่วงป่า เพราะมะม่วงป่าส่วนใหญ่ จะมีเมล็ดใหญ่มาก เนื้อนิดเดียว วิธีกินก็จะใช้วิธีเลิบ หรือ บีบกิน มะม่วงป่าเวลาสุกจะไม่ค่อยเป็นสีเหลือง จะยังดูสีเขียวๆ บางชนิดก็ออกเปรี้ยวๆ หายากมากแล้วเดี๋ยวนี้

         สังเกตว่า มะม่วงป่า จะมีเปลือกหนา ไม่เหมือนมะม่วงในตลาด จะเปราะบางมาก นิดหน่อยก็ช้ำ        

และเราก็ฝันมากว่าอยากมีต้นมะม่วงพันธุ์พื้นเมืองกะเขาบ้าง

ก็มีคนแนะนำให้เพาะเอง

มีชาวบ้านแนะนำว่า ก่อนเพาะให้เอาเปลือกหุ้มเมล็ดออกก่อน จะทำให้่เพาะง่าย 

ช่วยกันอนุรักษ์มะม่วงพื้นเมืองของเรา แล้วเราจะได้กลิ่นหอมของมะม่วง ได้ลิ้มรสลำอร่อย ด้วยวิธีกินตามธรรมชาติ โดยเฉพาะมะม่วงเลิบหรือมะม่วงป่า 

อย่าตัดต้นมะม่วงพื้นเมืองขายนะคะ

จะลองเพาะสักหน่อยค่ะ 

©สุภฎารัตน์