Home ผู้บริโภค สิทธิผู้บริโภค อย่าเชื่อโฆษณากล่าวอ้าง “วิตามินบี 12”

อย่าเชื่อโฆษณากล่าวอ้าง “วิตามินบี 12”

0

แม้จะมีการดำเนินคดี กับบริษัทเครื่องดื่มชูกำลังที่กล่าวอ้าง วิตามินบี 12 ต่อนัยยะของความฉลาด  แต่อาศัยช่องว่างของกฎหมาย ไม่จริงใจกับผู้บริโภคและด้วยความล่าช้าของการดำเนินคดีการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ยังคงมีการโฆษณากล่าวอ้างถึง วิตามินบี 12 กับสินค้าอีกหลายชนิด และมีการโฆษณาในรูปแบบของคาราวานสินค้า ของการจัดงานต่างๆ          

     

         ล่าสุดมีเครื่องดื่มชนิดหนึ่ง โฆษณา ด้วยลักษณะท่าทาง ไม่ใช้คำพูด ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย

ผู้บริโภคจึงต้องรู้เท่าทัน การโฆษณา ที่มีการกล่าวอ้างทางวิชาการ เอาข้อมูลวิชาการมาสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าและก็ใช้วิธี “โฆษณาเกินจริง”

          วิตามินบี 12 มีประโยชน์อย่างไร ร่างกายต้องการเท่าใด และมีอยู่ในอาหารชนิดใด

  1. วิตามินบี 12 มีประโยชน์ต่อร่างกายในการสร้างเม็ดเลือด การทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ถ้าร่ายกายขาดวิตมินบี 12 จะมีอาการโลหิตจาง เหนื่อยล้า และมีความบกพร่องของระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งอาจเป็นอาการที่เกี่ยวกับข้องโรคอื่นๆด้วย ดังนั้น การตรวจจากแพทย์จะทำให้ทราบว่า เป็นเพราะการขาดวิตามินบี 12 หรือไม่
  2. ร่างกายจำเป็นที่ต้องได้รับวิตามินบี 12  จำนวน 2 ไมโครกรัมต่อวัน ( 0.0000024 กรัม) ซึ่งแม้ว่าจะว่าน้อยมาก แต่ก็จำเป็น และในความจำเป็นนี้ อาหารประจำวันของเราก็เพียงพอแล้วที่จะได้รับวิตามินบี 12 
  3. แหล่งอาหารที่ให้วิตามินบี 12 คือ เนื้อสัตว์ ทั้งสัตว์บกและสัตว์ทะเล เครื่องในสัตว์ ไข่ นม หรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์

             

        แต่ถ้าเราหวังว่าจะได้วิตามินบี 12 จากเครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มต่างๆ ที่มีการโฆษณา เราจะพิจารณาจาก

1                    ความฉลาดของคนเรา เกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ การเลี้ยงดูโดยรวม สิ่งแวดล้อม และความเป็นตัวตนของบุคคลที่ใฝ่เรียนใฝ่รู้

2                    ผู้บริโภคถูกหลอก ถูกทำให้เชื่ออย่างไร้เหตุผล เราตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา ที่อาศัยช่วงโหว่ของกฎหมาย เอาเปรียบผู้บริโภค โฆษณาเกินจริง

3                    ถ้าเป็นเครื่องดื่มชูกำลังจะมีคาเฟอีนมาก และอาจได้รับสารสังเคราะห์อื่นๆ ต้องระวังสำหรับผู้สูงอายุ,เด็ก และสตรีมีครรภ์ ก็จะยิ่งได้รับผลเสีย และถ้าเป็นเครื่องดื่มน้ำสีต่างๆเราก็จะได้รับปริมาณน้ำตาลสูง รวมทั้งสารสังเคราะห์แต่งรสแต่งสีต่างๆซึ่งไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย

                      ปัจจุบันมีการโฆษณาหลอกลวง เกินจริง ออกมาทางสื่อต่างๆ อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ซึ่งเราต้องช่วยกันใช้มาตรการทางกฎหมายให้เข้มแข็งและขณะเดียวกัน เราก็ต้องหาทางออกเพื่อสุขภาพและยืนหยัดการใช้สิทธิของผู้บริโภค

1                    ต่อต้านสินค้าโฆษณาเกินจริงเหล่านี้  ซึ่งแสดงถึงความจงใจที่ใช้เล่ห์เหลี่ยมการโฆษณามาสร้างข้อมูลผิดๆ สร้างค่านิยมผิดๆ และปกปิดอันตรายจากสารสังเคราะห์อื่นๆที่ผสมในเครื่องดื่ม อีกทั้งไม่จำเป็นต่อคร่างกายและมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ

2                     หันมาเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องเป็นเกราะคุ้มครองผู้บริโภค  ใฝ่หาข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อย่ารับฟังคำโฆษณาด้านเดียว

3                    ทุกครั้งที่รับฟังโฆษณา ต้องไตร่ตรอง หาข้อเท็จจริง และช่วยกันแจ้งข้อสงสัยต่อสินค้าที่เข้าข่ายโฆษณาหลอกลวง,โฆษณาเกินจริง ต่อ อย. ,สสจ.และองค์กรผู้บริโภค

4                    กลับมาดูแลสุขภาพ ด้วยอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งมีอยู่ในอาหารประจำวันของเราแล้ว ซึ่งการรับประทานอาหารครบห้าหมู่ของเรา จะช่วยให้ร่ายกายของเราได้รับสารอาหารครบถ้วนแล้ว 

5                    หากมีอาการเจ็บป่วย หรือไม่สบาย รู้สึกอ่อนเพลีย ควรหาสาเหตุจากตัวเองก่อน เช่น ออกกำลังกายบ้างไหม อาหารการกินเป็นอย่างไร นิสัยการกินเป็นอย่างไรและสงสัยอาการของตนเองควรพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจและรับคำแนะนำ

6                    พึงระวังการโฆษณา หลอกลวง เกินจริงจากอาหารเสริม เครื่องดื่ม ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สารพัด

              ผู้บริโภค ควรรู้เท่าทัน รู้สิทธิ รู้กฎหมาย ไม่ตกเป็นเหยื่อโฆษณา และหยุดสนับสนุนสินค้าที่โฆษณาหลอกลวง

 

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

bangpun@yahoo.com

 

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่  17 เมษา 55 คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7