ถ้าไม่“ขี้เกียจเดิน”

0
1913

“ขี้เกียจเดิน” คำพูดนี้ไม่เพียงแต่เป็นคำพูดติดปากเท่านั้น แต่พฤติกรรมก็ตามไปกับคำพูดด้วย เมื่อขับรถส่งลูกไปโรงเรียน  เมื่อขี้เกียจเดินกัน ก็ต้องจอดให้ตรงประตูโรงเรียนมากที่สุด ผลคือรถติดมากกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อไปตลาด ก็ขับรถวนแล้ววนอีกเพราะขี้เกียจเดิน ต้องหาที่จอดใกล้ทางเข้ามากที่สุด  ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร หากไม่คิดถึงผลอะไร เพียงแต่สำหรับด้านสุขภาพแล้ว เราเสียโอกาส อย่างน้อย 3 เรื่อง

เรื่องแรกเป็นเรื่องนิสัย เป็นนิสัยขี้เกียจ ที่ส่งเสริม ความรักสะดวกรักสบายที่อาจจะมากเกินไป หรือไม่แยกแยะ  อาจส่งผลถึงนิสัยขี้เกียจอีกหลายอย่างๆ เช่น ขี้เกียจทำอาหารเองซื้อกินดีกว่า  ขี้เกียจคิดอะไรก็ได้ เป็นต้น หรือ ทำให้เราเลือกซื้อของประเภทสะดวกสบายที่สุดไม่ต้องทำอะไร  ซึ่งทำให้เราติดความเคยชินมากเกินไป หรืออาจทำเราตกเป็นเหยื่อของสินค้าใหม่ๆ ที่เสนอความสะดวกพร้อมกับราคาแพง

เรื่องที่สองเป็นเรื่องอารมณ์ เป็นลมบ่จอย เป็นอารมณ์หงุดหงิดง่าย เมื่อไม่สามารถตอบสนองความขี้เกียจของตนเองได้

                 เรื่องที่สามเป็นเรื่องสุขภาพ  เพราะการเดิน เป็นการออกกำลังกายที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เรากำลังสูญเสียไป  และปัจจุบันเราหันมารณรงค์ให้ผู้คนออกกำลังกาย ซึ่งรูปแบบการออกกำลังกายง่าย สะดวก และปลอดภัยที่สุด  คือ การเดิน  

                เราลองมาลบคำว่า “ขี้เกียจเดิน” ออกจากใจ แล้วลองมาดูข้อมูลดีดีของการเดินดังนี้

1.             เมื่อไม่ขี้เกียจเดินอย่างน้อยเราก็ขจัดความขี้เกียจไปได้หนึ่งอย่าง ก็จะส่งผลให้เราไม่ขี้เกียจในเรื่องอื่นๆ การไม่เป็นคนขี้เกียจ ไม่เป็นคนเกียจคร้าน ก็จะส่งผลดีต่อชีวิตเราอีกมากมาย

2.             การเดินทำให้เราอารมณ์ดี  การเดินทำให้ลดความเครียด ช่วยกระตุ้นให้ฮอร์โมน เอนดอร์ฟิน (หรือสารความสุข) หลั่งออกมา ทำให้อารมณ์ดี มีความสุข  จิตใจแจ่มใส

3.             การเดินดีต่อสุขภาพ ทำให้กล้ามเนื้อกระดูกและเอ็นแข็งแรง มีความยืดหยุ่น  ทำให้ระบบการทำงานของหัวใจและการไหลเวียนของเลือดดี ระบบการย่อยและระบบการขับถ่ายของร่างกาย ทำงานได้ดีเป็นปกติ ระบบภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทานโรคแข็งแรง  ผิวพรรณสดใสเต่งตึง  ชะลอความเสื่อมของร่างกาย  และการเดินยังช่วยบรรเทารักษาอาการป่วย

สำหรับผู้ที่ต้องการเผาผลาญแคลอรี่ หรือควบคุมน้ำหนัก คงสนใจว่า การเดิน(และการวิ่ง)ทำให้เผาผลาญแคลอรี่ไปเท่าใด  มีข้อมูลเกี่ยวกับการเดินการวิ่งที่รวบรวมมาดังนี้ค่ะ

ชนิดของการออกกำลังกาย พลังงานที่ใช้ต่อชั่วโมง (แคลอรี่) ชนิดของการออกกำลังกาย พลังงานที่ใช้ต่อชั่วโมง (แคลอรี่)
เดินช้า 150 เดินลงเนิน 240
เดินธรรมดา 300 เดินขึ้นเนิน 480-900
เดินเร็ว 420-480 วิ่งเหยาะๆ 600-750
เดินลงบันได 425 วิ่งเร็ว 900-1,200
เดินขึ้นบันได 600-1080 วิ่งบนสายพาน 700

 

ในชีวิตประจำวันมีการเดินมากน้อยแค่ไหน มาทบทวนกัน คิดเล่นๆว่า ถ้าเราจดบันทึกทุกวัน จะมีระยะทางแค่ไหน บางคนอาจตกใจตนเองก็เป็นได้ เพราะทั้งวันเดินรวมๆกันได้ไม่กี่ร้อยเมตร  ในขณะที่บางคนเดินเกือบทั้งวันในอาชีพการงาน

จะสร้างนิสัยการเดินในชีวิตประจำวันได้ ก็ต้องสำรวจสภาพแวดล้อมในบ้าน ที่ทำงาน ลักษณะอาชีพ นิสัยไม่ชอบเดิน เพราะปัจจุบันเรามีการสื่อสารสมัยใหม่เป็นตัวช่วยในการทำงาน  ยิ่งเดินน้อย เคลื่อนไหวร่างการน้อย ก็มีโอกาสปวดข้อปวดกระดูก เป็นอาการออฟฟิศซินโดรม บางคนนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ไม่มีโอกาสเดินเลย หากไม่ตั้งใจพักเดินเสียบ้างก็นั่งทำงานอย่างนั้นทั้งวัน หรือบางคนมีอาชีพทอผ้า ก็นั่งทำงานอย่างนั้น ในท่าเดิมๆ ก็ป่วยมีอาการจากการทำงานเช่นกัน  สำหรับคนเดินมากๆก็ต้องสำรวจ ทั้งรองเท้าที่ใช้เดินว่าเหมาะหรือไม่ และอากัปกิริยาการเดินเป็นอย่างไร

การเดินที่ดี คือการเดินอย่างมีสติ รู้ตัวว่าเรากำลังเดิน แกว่งแขนตามสมควร  ขาก้าวอย่างมั่นใจ ตัวตรง  เดินอย่างสง่า มีความตื่นตัว  

ส่วนการเดินที่รณรงค์กันมากคือ การเดินเพื่อสุขภาพ เป็นการออกกำลังกายซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะสามารถออกกำลังกายได้ทุกวัย  และยังใช้การเดินเป็นการบำบัดรักษาโรคอีกด้วย  

การเดินเพื่อสุขภาพแตกต่างจากการเดินในชีวิตประจำวัน  คือ  ต้องมีการวอร์มร่างกายทั้งก่อนการเดิน และผ่อนคลายร่างกายหลังการเดิน   แกว่งแขนสลับซ้ายขวา   ขาก้าวสั้นหรือก้าวยาวอย่างมีจังหวะต่อเนื่อง  จัดหารองเท้า เสื้อผ้าที่เหมาะสม ทางเดินที่ดีต้องไม่ขรุขระไม่ลื่น(หน้าฝนนี้ต้องระวัง)  มีสิ่งแวดล้อมของทางเดินที่ดี มีต้นไม้มีร่มเงา  มีธรรมชาติให้ได้พักสายตา รับอากาศดีดี  ส่วนระยะทางเดินหรือเวลาที่ใช้ในการเดิน ควรให้เหมาะสมกับร่างกายของตนเอง           

มีการศึกษาพบว่า สำหรับคนปกติ เดินประมาณ 5 กิโลเมตร ในเวลา 45 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน จะทำให้โกรทฮอร์โมน (growth hormone) หลั่งออกมาและชีพจรเต้นได้ประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาที ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและมีความสุข            สำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ต้องใส่ใจกับรายละเอียดของการเดินมากขึ้น ระมัดระวังการหกล้ม และควรมีเพื่อนร่วมทางเดิน 

ส่วนการเดินแบบอื่นที่มีความสำคัญต่อร่างกาย,อารมณ์และจิตใจ คือการเดินจงกรม การเดินเล่น การเดินชมสวน การเดินพักผ่อน  และหากเป็นการเดินด้วยกันในครอบครัว ก็จะช่วยให้สร้างบรรยากาศเป็นสุขในครอบครัว  โดยเฉพาะเด็กๆควรส่งเสริมให้รักการเดิน เพราะเป็นการพัฒนาความแข็งแรงและโครงสร้างพื้นฐานของร่างกาย

มีการคาดเดาทีเล่นทีจริงต่างๆนาๆว่า ในอนาคตคนเราจะมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน  บ้างก็ว่าอาจจะหัวโต เพราะอวัยวะอื่นไปค่อยได้ใช้ บ้างก็ว่าอาจจะมีรูปร่างอ้วนกลม ขาสั้นแขนสั้น เพราะอาหารการกินและมีสิ่งอำนวยความสะดวกรอบตัว มีหุ่นยนต์ทำให้  อย่ากระนั้นเลย  เราอยู่กับปัจจุบัน เราต้องทำปัจจุบันให้ดีที่สุด มาดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ เรียนรู้ฝึกฝนให้มีความรู้สึกนึกคิดที่ดีงามอยู่เสมอ

©สุภฎารัตน์