Home ผู้บริโภค รู้เท่าทันสื่อ “ลองดูลองใช้” บทเรียนของผู้บริโภค

“ลองดูลองใช้” บทเรียนของผู้บริโภค

0

“ข้าเจ้า ก่อใช้อยู่ ดีขนาด ลองผ่อเต๊อะ รับรองผอม” นี่เป็นการโฆษณาแบบปากต่อปากในชุมชน “รู้จักกันดี ไม่มีทางจะหลอกลวง” เป็นการรับประกันอีกชั้น แถมต่อด้วยคำว่า “ถ้าบ่าดี มาว่าได้เลย”

            จึงก่อให้เกิดการ “ลองไปใช้ก่อน” “ลองซื้อมากิน” “ลองใช้ดู” และก็นำไปสู่ปัญหาที่ตามมาหลายด้าน ตัวอย่างเช่น มีอยู่รายหนึ่ง ขายผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน ด้วยการ เป็นผู้ลองใช้ ตอนแรกได้ผลดี ต่อมาเป็นผู้ขาย และผลที่ตามมาคือ เกิดภาวะอ่อนแรง หลงๆลืมๆ และสุดท้ายต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล ผ่านมาเกือบสองปีแล้ว อาการยังไม่ปกติเหมือนเดิม

และมีอีกมากมาย ที่ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ ซึ่งมักจะมีการโฆษณาผ่านวิทยุ และผ่านการบอกปากต่อปาก ผลที่ออกมา ตอนแรกคิดว่าดี ซื้อมาใช้ก็ต้องดี กินไปกินมา หาความแตกต่างระหว่างสุขภาพที่ดีขึ้นและกับสุขภาพปกติของตัวเอง ไม่ออก ก็สรุปว่า ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี แต่ก็ซื้อมาในราคาแพง ขวดละ ไม่ต่ำกว่าพัน

ที่จริง “ การลอง “ “การทดลอง” ถือเป็นหลักการพัฒนา เราจะทำน้ำผลไม้รสอร่อยสำหรับตนเอง เราจะทำแบบไหน ก็ลองทำดู นักวิทยาศาสตร์ จะทดลองอะไรใหม่ๆ ก็ต้องลองทำ ชาวบ้านเราจะคิดอะไรออกมาใหม่ๆก็ต้อง ลองทำ แต่ทั้งหมดนั้นจะเป็นการลองที่สร้างสรรได้ เราต้องมีหลักการ  เราต้องมีความรู้พื้นฐาน มีต้นเรื่อง มีภูมิปัญญา มีข้อมูล ก่อน จึงจะหาวิธีการของการลองได้อย่างมีทิศทาง 

ด้วยหลักการที่ว่า ความอยากรู้อยากเห็นของคนเรา เป็นพื้นฐานของการพัฒนา จึงนำไปสู่วิธีคิด และแนวทางการพัฒนาหรือการเรียนรู้นานัปการ และขณะเดียวกันผู้ประกอบการ นักการตลาด นักโฆษณาก็ใช้วิธีเดียวกัน ในการสร้างแรงใจให้ผู้บริโภคได้ทดลองสินค้าของตัวเอง และนำไปสู่การยืนยันผลว่า ชอบ ว่าไม่ชอบ ว่าได้ผล ไม่ได้ผล ดังนั้นผู้บริโภคจึงเป็นกลไกสำคัญในระบบการค้าขาย

และหากได้ลอง แล้วติดใจ ก็จะยิ่งยืนยันผล

แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น สำหรับผู้บริโภคที่เป็นการลอง มักจะเกิดประเด็นหลายด้าน เช่น การลองโดยรับข้อมูล ข่าวสารไม่ถูกต้อง ติดกับดักของการโฆษณาเกินจริง การลอง จึงกลับส่งผลเสียต่อความเสี่ยงด้านสุขภาพ เสียเงินเสียทอง ไม่คุ้มค่า เสียความรู้สึก

อีกด้านหนึ่งคือการลองแบบผิดๆ รู้ไม่จริง ใช้ไม่ถูก แล้วลองทำลองกินลองใช้ ผลออกมาไม่ดี ก็เป็นประเด็นว่า ว่าที่ลองแล้วนั้นไม่ดี ทั้งๆที่สิ่งนั้นๆ เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องมีวิธีการใช้ที่ถูกต้อง เช่น สมุนไพร  ซึ่งแต่ละชนิด มีสรรพคุณ และมีคุณค่ายิ่ง แต่หากลองใช้แบบไม่ถูกวิธี ผลเสียก็ปรากฎ กลายเป็นประเด็นข่าว สรุปต่อสาธารณะว่าไม่ดี  แบบนี้ก็เป็นการลองกับ “สิ่งที่ดี” แต่ไม่มีความรู้และใช้ไม่ถูกก็เป็นการทำลาย”สิ่งที่ดี”ได้

ดังนั้น การลองดู ลองใช้ ลองกิน ลองซื้อ สามารถทำได้ ถ้า มีข้อมูล มีหลักการ มีความรู้ และรู้เท่าทัน ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องด่วนลอง ถามไถ่หน่วยงานที่เขารู้ เปรียบเทียบข้อมูล และวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ด้วยตนเอง เช่น “ กินแล้วลดอ้วนใน 1 เดือน รับรองผล 100 %”  เอ..จะเป็นไปได้หรือ  ถ้าดีจริง ไม่ต้องเสียงบประมาณมารณรงค์เรื่องอ้วนกันหรอก ซื้อมาแจกหรือเบิกได้ในโรงพยาบาลไม่ดีกว่าหรือ ง่ายกว่าตั้งเยอะ

ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทัน ไม่ว่าโฆษณาจะมาไม้ไหน เช่น“…….. ร่างกายเราผลิตไม่ได้ต้องกินเข้าไป กินได้ยิ่งมากยิ่งดี” “สาวขึ้นพริบตา หล่อขึ้นทันใด” “ขาว อึ๋ม……..xxxx(เซ็นเซอร์)” “รีบๆสั่งซื้อนะฮะ…เราลดพิเศษสำหรับคุณวันนี้วันเดียวนะค๊า…..”

ถ้าจะลอง ต้องลองอย่างมีความรู้ มีสติมีปัญญา จะทำให้เรา ไม่ต้องพบกับบทเรียนที่เสียใจเสียสุขภาพเสียเงินเสียความรู้สึก อยู่ร่ำไป ต้อง “ไม่ลอง ไม่ซื้อ ไม่สน”

 และสมมุติว่าคุณลอง แล้วเกิดผลเสีย อย่าอาย ขอช่วยร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแสให้ หน่วยงานเช่น สำนักงานสาธารณสุข ,สคบ.และองค์กรผู้บริโภค เพื่อเราจะช่วยกันขจัดสินค้าและโฆษณาหลอกลวง

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์