Home Uncategorized บ่าหลอด มะหลอด

บ่าหลอด มะหลอด

0

มะหลอด ผลไม้พื้นเมือง อีกชนิด ที่ำกำลังหายไป

จำได้ว่าตอนเป็นเด็ก ในสมัยนั้น มะหลอด หรือบ่าหลอดในภาษาคำเมือง เป็นของกินหน้าร้อน  ถ้าเปรี้ยวก็เอามา “โซ๊ะ” ปลาร้า ถ้าหวานก็เอามา “กิ๊ก” (หยิบมาลูกหนึ่งมานวดเบาๆให้นิ่มๆ) จะทำให้ลดความฝาด จากนั้นก็เอามากินได้เลย 

มะหลอดเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง บางบ้านทำร้านให้มะหลอดเกาะเกี่ยว เหลือพื้นที่ใต้ต้น เป็นที่นั่งเล่นได้ บางบ้านปลูกไว้ประตูบ้าน กลายเป็นซุ้มประตู

(บ่าหลอด เป็นคำเมืองล้านนา เวลาเรียกผลไม้มักขึ้นต้นด้วยคำว่า  “บ่า หรือ บ่ะ” แต่พออ่านเป็นคำไทยกลาง มักใช้คำว่า “มะ” เช่น บ่าหลอด-มะหลอด, บ่าขาม-มะขาม”)

มะหลอดจะมี 3 รส  ทุกรสจะมีรสฝาดอยู่ด้วย แต่จะกี่พันธุ์ไม่มั่นใจ 3 รสที่ว่า นั้น คำเมืองอธิบายได้ดังนี้

บ่าหลอดส้ม คือรสเปรี้ยว อาจจะสังเกตยาก แต่ผู้ชำนาญบอกว่า ดูสีผล ถ้าออกสีส้ม ผลใส มักจะเปรี้ยว การกินก็มักจะเอาทำ “โซ๊ะ” คืิอ เอามาปอก ตำหรือยำกับน้ำพริก “โอ้โล้” คือน้ำพริกที่ทำง่ายๆ เร็ว ไม่พิถีพิถัน ใส่เกลือ ปลาร้าเยอะหน่อย หอม กระเทียม น้ำตาล น้ำปลา เอามะหลอดที่ปอกเป็นเส้นยาวๆเอาเมล็ดออก หรือไม่เอาออกก็ได้ เอามายำรวมกัน ต้องให้เนื้อบ่าหลอดนิ่มๆนะคะ เพราะไม่งั้นจะติดรสฝาดเยอะ

ทำด้วยกันและกินกันหลายๆคน อร่อยไป เปรี้ยวไป เผ็ดไป กลิ่นปลาร้าจัดเต็ม 

บ่าหลอดหวาน สีจะค่อนข้างแดงเข้ม หากินยาก  และมักจะถูกหลอกง่ายด้วย “หวาน” อาจมีเปรี้ยวฝาดเยอะ หรือบางทีก็หวานแบบจืดๆ มะหลอดหวานอร่อยจึงหายากนัก

แต่ไม่ว่าอย่างไร เวลากินก็ต้องทำให้นิ่ม  เพราะไม่งั้นจะมีรสฝาดเยอะ อีกอย่างเวลาเรานวดให้นิ่มๆ คลึงให้นิ่มเวลากิน ก็แยกเมล็ดออกจากเนื้อมะหลอดได้ง่ายโดยอัตโนมัติ

บ่าหลอดก๋ำปอ หมายถึง ไม่เปรี้ยวมาก ไม่หวานมาก ซึ่งก็ยากที่จะบอกว่า จะกำหนดรสได้อย่างไร บ้างก็ว่า มันก๋าย(มันกลายพันธุ์)  ชนิดนี้ก็เอามา “โซ๊ะ” อร่อย หรือเพียงเอามาแช่น้ำปลาสักพักก็กินได้แล้ว

ยังพอมีขาย บางเจ้าจะใส่จานแบบนี้ จานละ 10 บาท บางเจ้าตวงเป็นลิตร ราคา 10  บาท

 

 

 

ปอกอย่างนี้

 

เมล็ด เอาไปเพาะได้ ที่บ้านเพาะเอง สูงเมตรกว่า ยังไม่ทราบว่ามีดอกมีผลเมื่อไหร่ และถึงเวลานั้นคงต้องลุ้นว่า จะเป็นเปรี้ยว/หวาน หรือ ก่ำปอ

แต่ต้นพันธุ์เป็นรสหวาน

ได้กินมะหลอด ก็ลองเอาเมล็ดมาเพาะ จะได้บ่าหลอด เพิ่มอีกหลายๆต้นค่ะ

สุภฎารัตน์