ผักฮ้วนหมู สูงด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

0
3929

คยเรียกมาตั้งแต่เด็ก ว่า “ผักฮ้วน” แต่เดี๋ยวนี้มักเรียกกันว่า “ผักฮ้วนหมู”

       บ้างก็ว่า มันเหมือน”ไส้” หมู ซึ่งภาษาคำเมือง คำว่า “ฮ้วน” หมายถึง “ไส้” แต่ไม่ว่าอย่างไร ช่วงนี้ หน้าร้อนนี้ มีดอกออกมาให้กินกับตำมะม่วงแล้ว และต้องเป็นตำมะม่วงสูตรพื้นเมืองเท่านั้นจึงจะ “ลำขนาด”

      ไม่แน่ใจว่า คำว่าเหมือนไส้หมูนั้น หมายถึง พวงดอก หรือหมายถึง ต้นที่เป็นไม้เถาเนื้อแข็งของผักฮ้วน ที่จะขดไปขดมา ถ้าเป็นต้นที่ไม่ตัดแต่งจะเห็นชัดมาก แต่ถ้าปลูกในบ้าน ตัดแต่งไม่ให้ต้นใหญ่หรือเถาใหญ่ก็อาจจะเห็นไม่ชัด แต่บางคนก็ว่า เพราะมีรสขมเหมือนไส้หมู จึงชื่อว่าผักฮ้วนหมู 

ผักฮ้วนหมู จะเป็นไม้่เถาผลัดใบ ช่วงที่ไม่มีใบเลย จะเป็นอย่างนี้ (แต่เคยเห็นที่บ้านเพื่อน เขารดน้ำประจำก็เห็นแตกยอดอยู่ทุกฤดู) แต่ความเป็นเสน่ห์ของผักฮ้วน คือ ดอก ซึ่งจะผลิใบออกดอกช่วงหน้าแล้ง ตรงกับช่วงที่มีมะม่วงอ่อน(มะม่วงตามฤดูกาล) 

          เอามาลวกกินกับตำมะม่วง ขมเจือหวานนิดติดปลายลิ้น มะม่วงก็ต้องตำแบบสูตรคนเมือง ใส่ปลาแห้ง ซึ่งสูตรนี้จะกินกับผักฮ้วนลวก ,ผักชะอม(ผักหละ)สด,ผักแค(ชะพลู),จี๋กุ๊ก(หน่อข่าแดง)ฯลฯ 

       ตำมะม่วงแบบโบราณจริงๆจะใช้วิธีขูดเป็นเส้น ตำทีละเยอะๆ ออกหวานๆ สูตรหากินยาก ต้องเป็นงานวัฒนธรรม จึงจะมี แต่ก็มีอีกสูตรที่ตำโดยปรุงแบบน้ำพริกตาแดง แต่ใส่ปลาแห้งเพิ่มเยอะ(ถ้ามี) สูตรนี้ก็มีำทำขายทั่วไป

         กลับมาเรื่องผักฮ้วน ซึ่งมีการศึกษาวิจัยว่ามีสานต้านอนุมูลอิสระสูง มีคุณค่าโภชนาการที่สามารถยกเป็นผักที่มี “สารอาหาร”สูงยิ่งนัำก

   ไปซื้อมาจากตลาด ยังไม่มีในบ้าน เคยเอาปลูกครั้งหนึ่ง แต่ตอนนั้นยังอ่อนด้อยสำนึกและความรู้ในการดูแล มันจึงจากไป 

      ถ้าเจ้าไหนยังไม่มีดอก มีแต่ใบอ่อน จะขายราคาถูกหน่อย แต่ถ้ามีดอกเยอะๆหน่อย ก็ขายราคาแพงขึ้น คนจะนิยม เพราะส่วนดอก ขมน้อยกว่าใบ และมีรสหวานมันเพิ่มเข้ามา 

         ถ้าเป็นดอกตูมอย่างนี้ จะขมกว่าดอกบาน

 

แต่ถ้ามีดอกบานมากๆ ราคาก็ลดลงอีก เอาใจยากจริงๆ ต้องมียอดอ่อนนิดหนึ่ง ดอกตูมดอกบานผสมกัน จึงจะเป็นที่นิยม

 ดูดีดี ดอกพวงสวย สีเขียว เขียวจริงๆ

 ดอกเล็กในพวงดอกใหญ่

อามาทำเป็นอาหาร นอกจากกินกับตำมะม่วงแล้ว ยังเอามาแกงได้อร่อยอีกด้วย (ของขมๆแบบนี้ มักเป็นเมนูของคนสูงอายุทั้งนั้น ตามการทำงานของลิ้น และมุมมองด้านสุขภาพ บรรเทาอาการ “จ๋างปากจ๋างคอ” ดีนักแล)

     สมัยก่อนเมื่ออุ้ยยังอยู่ อุ้ยมักขนาด(ชอบมาก) เราก็คิด…ขมอย่างนั้นกินได้อย่างไร เราคงไม่มีวันกินหรอก และเมื่อเวลามาเยือน… เราก็คิดถึงอุ้ยทุกครั้งที่กิน  

        เวลาแกงก็เหมือนกับแกงผักเซียงดา  ใส่ปลาแห้ง  ใส่หอมแดงเยอะหน่อย ช่วยให้น้ำแกงหวาน ใส่มะเขือเทศ ตัดรสขม  หรืออาจแกงเป็นผักรวม ใส่ผักชะอม ใส่ผักเซียงดา ผักก้านเถิง ผักหวานบ้าน ผักเสี้ยว ใส่ไปด้วยก็ไ้ด้แกงอร่อย ไม่ขมมา แถมได้ความกรอบของผักก้านเถิง ความหวานก้านกรอบจากผักหวานบ้าน

       ลวกเสร็จแล้ว ไม่ต้องลวกนาน แต่ถ้าแกงหรือลวกให้พ่ออุ้ยแม่อุ้ยกิน แกงหรือลวกให้เปื่อยหน่อย จะได้กินง่าย ถ้าเราชอบลวกกรอบก็ตักออกก่อน (ถ้าเอามาแช่น้ำเย็นจัดสักครู่จะกรอบขึ้นมาบ้าง ปกติลวกแล้วจะค่อนข้างเหนียวนิดๆ)

        ยังไม่สามารถตำมะม่วงเองได้ ก็เลยลวกเอามากินกับมะม่วงกับน้ำพริก

 

      ส่วนตัวก็จะ(พยายาม) บอกกับตนเอง 3 เรื่อง คือ ไปหาต้นฮ้วนหมูมาปลูกสักต้น ฝึกตำมะม่วงเอง แบบพื้นเมือง ให้อร่อยๆ  และจะต้องตามหามะม่วงพันธุ์พื้นเมืองสักต้นมาปลูก ถ้าหน้ามะม่วงสุก อาจมีพันธุ์พื้นเมืองมาขายบ้าง เก็บเมล็ดลองเพาะน่าจะเป็นไปได้

©สุภฎารัตน์