ปัญหาสุขภาพของพระภิกษุและสามเณรมีหลายโรคที่เป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะอาหารและน้ำปานะ ดังนั้นจึงเป็นปัญหาที่ทุกส่วนควรร่วมกันป้องกันและแก้ไข
แต่เดิมมาอาหารใส่บาตร เป็นอาหารที่ชาวบ้านเราจัดเตรียมกันในตอนเช้าตรู่ แล้วนำไปถวายพระ หรือมีการส่งปินโตโดยมีเด็กวัดหรือขโยม มาเก็บ ถ้าเป็นหมู่บ้านใหญ่ ก็จะมีการแบ่งเป็นป๊อกๆ (โซน) ดังนั้นอาหารใส่บาตรจึงเป็นอาหารสดใหม่ ชาวบ้านตั้งใจทำบุญตั้งใจปรุงข้าวแกงด้วยตนเอง จึงเป็นทั้งวัฒนธรรมและการทำบุญที่ดี
แม้ว่าปัจจุบันหมูบ้านหลายพื้นที่จะยังคงวัฒนธรรมทำบุญใส่บาตรหรือถวายอาหารพระภิกษุสามเณรเช่นนี้ แต่สำหรับในเมืองมีการทำอาหารใส่บาตรขายเป็นการเฉพาะ หรือชาวบ้านมักใส่บาตรด้วยอาหารปรุงสุกที่ขายในตลาดตอนเช้า ซึ่งรูปแบบการใส่บาตรหรือถวายอาหารพระเช่นนี้ ก็เริ่มเข้าไปสู่ในพื้นที่นอกเมืองมากขึ้น
ความเร็ว ความง่าย ความสะดวก จึงเป็นความคิดแทนความตั้งใจทำบุญ แทนความตั้งใจทำอาหาร เพราะเปลี่ยนทัศนคติว่า ทำเอง เป็นความยุ่งยาก เสียเวลา ประกอบกับอาชีพการงานของชาวบ้านเปลี่ยนไป จึงต้องการความเร็วแข่งกับเวลา รีบซื้อรีบทำบุญรีบไป ผลคืออาหารใส่บาตร มักเป็นอาหารบูด อาหารไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ หรืออาหารทอดที่เต็มไปด้วยไขมัน ดูไปดูมาคล้ายเป็นอาหารทอดเก่าด้วยซ้ำ
มีอาหารกลุ่มใดบ้าง ที่น่าสงสัยว่าไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ
ชุดอาหารใส่บาตร เป็นชุดอาหารที่ขายเป็นชุด 10-25 บาทโดยประมาณ บางท่านทำบุญวันเกิด เชื่อว่าต้องใส่บาตรจำนวนอายุหรือมากกว่า ก็มักจะคิดว่า ต้องราคาถูกเข้าไว้ เพราะต้องครบปริมาณตามความเชื่อ บางท่านผ่านมาก็อยากซื้อใส่บาตร ก็ไม่ทันได้คิดอะไร มีเป็นชุดก็ง่ายดีไม่ต้องคิดมาก
หากท่านจะลองเอาอาหารชุดมาสักชุด ไม่ต้องใส่บาตร แต่เอาลองรับประทานเองที่บ้าน สิ่งที่ท่านพบคือ ข้าวแข็งๆ แกงจืด ผัดผักแข็งๆ หรือแกงที่ไม่แน่ใจว่าจะบูดไหม รสชาตชอบกล กลุ่มอาหารเหล่านี้ หากนำมาเวียนขายก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงบูดเน่าอีก นอกจากคุณค่าทางโภชนาการต่ำอยู่แล้ว
และที่ขาดไม่ได้คือน้ำสีส้ม เห็นเป็นสีส้มแต่ไกล เจ้าน้ำสีส้มดูเหมือนเป็นสัญญลักษณ์น้ำใส่บาตรหรือน้ำทำบุญไปแล้ว และตอนนี้ไม่เพียงแต่มีสีส้ม แต่มีสารพัดสี ลองเอาอ่านฉลากดูก็จะพบว่า ประกอบด้วย สารใส่สี สารปรุงแต่งกลิ่นสีรสซึ่งล้วนสารสังเคราะห์ และน้ำตาล
บางคนอาจแย้งว่า บางยี่ห้อจะมีเครื่องหมาย อย.แล้ว ไม่เห็นเป็นพิษภัยอะไร
เครื่องหมาย อย.ในเครื่องดื่ม เป็นการแสดงถึงการผลิต ตามกฎหมาย แม้ว่าจะควบคุมปริมาณการใช้สารเคมีและควบคุมความปลอดภัย เรื่องนี้แยกเป็น 3 ประเด็นคือ ประการแรกความปลอดภัย การมีเครื่องหมาย อย.ในน้ำดื่มใส่สีเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย เมื่อดื่มมาก ดื่มบ่อย ดื่มเป็นประจำ เพราะชาวบ้านถวายเป็นประจำ พระเณรจึงต้องฉันเป็นประจำเช่นกัน ดังนั้นไม่เป็นผลดีแน่นอน ส่วประเด็นประโยชน์ทางโภชนาการนั้น เนื่องจากส่วนประกอบสำคัญคือน้ำตาลและสารสังเคราะห์ ดังนั้น จึงไม่มีคุณค่าต่อร่างกาย และสุดท้ายคือประเด็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ ปริมาณน้ำตาลมาก สีและสารสังเคราะห์บางส่วนอาจสะสม ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนและไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพหากได้รับสารสังเคราะห์มาก
ความเสี่ยงของอาหารกลุ่มนี้ คือ ขาดคุณค่าทางโภชนาการ หรือเสี่ยงบูดเน่า สามเณรที่อายุยังน้อย ต้องการอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ กลับได้รับอาหารเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพแน่นอน
ทางออกสำหรับเรื่องนี้ ต้องปรับเปลี่ยนความตั้งใจของผู้ขายและผู้ซื้อเป็นหลัก หากเป็นสินค้าทั่วไป ทางเลือกอาจมากกว่านี้ แต่นี่เป็นอาหารใส่บาตร คนขายไม่ได้กิน คนซื้อไม่ได้กิน ดังนั้นจึงลอยตัว เพราะต่างได้ประโยชน์คนขายได้ขาย คนซื้อได้ทำบุญ การแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มปรับเปลี่ยนความคิดก่อน
สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์