ถวายอาหาร-น้ำปานะเพื่อสุขภาพ (จบ)

0
1948

แม่ค้าพ่อค้าควรตระหนักว่า อาหารใส่บาตรควรเป็นอาหารที่เหมาะสมในการฉันของพระภิกษุสามเณร  มีคุณค่าโภชนาการ ไม่บูดเสียและไม่ใส่สารกันบูด

              ดังนั้นการทำอาหารขายเพื่อให้ประชาชนมาซื้อใส่บาตรในตอนเช้า ควรมีความตั้งใจทำ เอาใจใส่อย่างแท้จริง

ส่วนประชาชนที่มาซื้อเพื่อใส่บาตร ควรตระหนักถึงสาระแท้จริงของการทำบุญ  สักแต่ว่าซื้อโดยไม่สนใจอาหารชุดในถาด ว่ามีคุณค่าหรือไม่  หรือบางท่านก็ต้องการปริมาณมากชุด ราคาถูก ได้ทำบุญก็พอใจถือว่าได้บุญแล้ว อย่างนี้ก็ไม่สมควร เพราะการทำบุญไม่ใช่เอาข้าวของไปแลก แต่การทำบุญที่แท้คือเอาใจใส่ ตั้งใจ หากเริ่มต้นอย่างนี้ ท่านก็จะเลือกได้ว่า ควรซื้ออาหารแบบใดใส่บาตร แต่หากท่านทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ สิ่งที่ท่านได้อาจไม่ใช่บุญ แถมยังส่งผลเสียต่อสุขภาพพระภิกษุสามเณร ดังนั้นท่านไม่ควรซื้ออาหารชุดใส่บาตรที่ไม่คุณค่า

  กลุ่มอาหารถวายเพล เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยง กลุ่มนี้ ต่างจากกลุ่มชุดอาหารใส่บาตร ตรงที่มักเป็นกลุ่มที่นิยามกันว่าเป็นอาหารดีดี อุดมไปด้วย หวาน มัน คือ เป็นอาหารทอด อาหารแกงกะทิเยอะ ไขมันเยอะ เนื้อเยอะ ผักน้อย ขนมหวานๆ

            กลุ่มอาหารสำเร็จรูป กลุ่มนี้มักอยู่ในถังสังฆทาน เช่นบะหมี่ นม ปลากระป๋อง น้ำดื่ม ซึ่งหากอยู่รวมกับ ผงซักผ้า แชมพู สบู่ละก็ จะมีกลิ่นสารเคมีจากสิ่งเหล่านี้ปะปน  และอาจมีของหมดอายุ หรือของใกล้หมดอายุรวมอยู่ หากพระคุณเจ้าไม่รีบแกะออกมาแยก ก็ทำให้หมดอายุได้ แต่บ่อยครั้งที่นมยังไม่หมดอายุ แต่บูด หรือจับกันเป็นก้อน ซึ่งอาจจะเกิดจากการวางขายที่มีแสงแดดสาดส่องหรืออาจมีรอยบุบ ทำให้อากาศเข้าไปได้

                        กลุ่มน้ำปานะ กลุ่มนี้ มีความสำคัญไม่น้อย เพราะหลังเที่ยง พระจะฉันอาหารไม่ได้ อาจฉันน้ำปานะ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ท้องว่าง หากมีการถวายน้ำอัดลม ก็ทำให้ส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่ก็มีแนวโน้มที่ดี ว่า ปัจจุบันการถวายน้ำปานะ ชาวพุทธค่อนข้างให้ความสนใจเพื่อสุขภาพ จึงถวายน้ำเต้าหู้ หรือน้ำผลไม้ต่างๆ ซึ่งก็ควรระวังความหวานด้วย

               ปัญหาสุขภาพของพระภิกษุส่วนหนึ่งเกิดจากอาหารที่ได้รับการถวายจากศรัทธาญาติโยมที่อาจขาดความเอาใจใส่ หรืออาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ บางรูปยังมีปัญหาโรคอ้วนด้วย นอกจากนี้ สามเณรที่อายุยังน้อย ยังต้องการอาหารที่ดีต่อการพัฒนาการของร่างกาย ดังนั้นหากเราชาวพุทธตั้งใจทำบุญ เราพึงใส่ใจในอาหารที่ดีต่อสุขภาพพระภิกษุสามเณร

            อย่างไรก็ตาม การรณรงค์สร้างความตระหนักยังไม่เพียงพอ การที่แก้ไขปัญหา ต้องอาศัยด้านกฎหมายด้วย เช่น สังฆทานต้องแสดงฉลาก (บางเจ้ามีฉลากแต่วางขายในหน้าร้านที่แสงแดดจัด ก็ทำให้เสื่อมคุณภาพ หรือใส่รวมปะปนกับผลิตภัณฑ์ที่มาสารเคมีก็ทำให้ไม่สามารถนำสิ่งของมาใช้ประโยชน์ได้) สินค้าหมดอายุ นำมาขายปะปนในสังฆทานก็เข้าข่ายผิดกฎหมาย

            นอกจากนี้ ยังมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2552 เรื่อง การจัดการปัญหาภาวะนํ้าหนักเกินและโรคอ้วน  ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องและสมํ่าเสมอ ข้อ 1.6 ได้มีมติ “จัดให้มีอาหารชูสุขภาพให้บริการหรือจําหน่ายในหน่วยงาน  องค์กร สถานประกอบการ ชุมชน ศาสนสถาน และโรงแรม รวมถึงมีการจัดเมนูอาหารหลักและอาหารว่างชูสุขภาพ ทุกครั้งที่มีการจัดประชุม อบรม สัมมนา งานบุญ งานประเพณีและกิจกรรมชุมชน” จะเห็นว่า อาหารถวายพระจัดอยู่กลุ่มอาหารเมนูชูสุขภาพ รวมถึงการจัดอาหารต่างๆในงานบุญงานวัดงานประเพณีด้วย

                          การส่งเสริมให้มีการถวายอาหารและน้ำปานะเพื่อสุขภาพแด่พระภิกษุสามเณร จึงควรมาจากตัวเราที่เป็นชาวพุทธ และควรนโยบายการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการรณรงค์และการปฏิบัติจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งความร่วมมือจากผู้ประกอบการด้วย

            ความรู้ความเข้าใจของพระภิกษุสามเณรในการดูแลสุขภาพ ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพของพระและสามเณร เมื่อได้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ ก็อาจต้องสื่อสารกับชุมชน และภายในวัดเอง

            ทำบุญถวายอาหารและน้ำปานะในครั้งต่อไป ขอเชิญทุกท่านเอาใจใส่และพิถีพิถันเลือกซื้อหรือปรุงอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของพระภิกษุสามเณร

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์