ดูแลเด็กด้วยความรัก ควรรู้จักสิทธิเด็กด้วย

0
1632

งานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพิทักษ์สิทธิเด็ก เราจะพบเห็นการละเมิดหรือการสร้างความเสี่ยงให้เด็ก เช่น การโฆษณาขนม การโฆษณาสินค้าเด็ก การขายสินค้า อาหาร และผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงบริการด้านสุขภาพ สาธารณสุข

               เด็กคือศูนย์รวมของความรัก ความเอาใจใส่ พ่อแม่ปรารถนาสร้างเสริมและให้สิ่งดีดีกับลูกๆ แต่ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเด็กอีกมากมาย ทั้งอาจเกิดขึ้นในครอบครัวและสังคม ดังนั้น นอกจากความรักความอบอุ่นที่เรามีให้ลูกหลาน หรือเด็กอื่นๆ เราก็ควรจะรู้จักสิทธิเด็ก เพื่อให้เข้าใจทิศทางของการเติบโตของลูกที่เรารัก และเด็กๆในสังคม

” สิทธิเด็ก ” เป็นสิทธิสากล และเป็นสิทธิเด็ดขาด โดยไม่เลือกปฏิบัติ ทุกเชื้อชาติ ศาสนา สถานะทางสังคม วรรณะ เพศ ซึ่งต้องได้รับการรับรองและคุ้มครอง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นหลักประกันสำคัญในการพัฒนาเด็กทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา

สาระสำคัญของสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก กำหนดไว้เพื่อให้สามารถเป็นแนวทางปฏิบัติ การรับรอง คุ้มครองที่มีผลทั้งต่อการกำหนดเป็นนโยบาย กฎหมาย และมาตรการต่างๆ คือ

เด็กมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด โดยกำหนดให้ครอบคลุมถึงสิทธิของเด็กที่จะมีชีวิต และสิทธิที่จะมีมาตรฐานของการดำรงชีวิต ความเป็นอยู่อย่างเหมาะสม เช่น การมีที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม ได้รับอาหารหรือโภชนาการที่ดีมีประโยชน์ต่อการพัฒนาการ ได้รับการคุ้มครองด้านสุขภาพ  ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักความเอาใจใส่ ได้รับการส่งเสริมทักษะชีวิตที่ถูกต้องดีงาม

                เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการพัฒนา อย่างเต็มศักยภาพ เช่น สิทธิที่จะได้รับการศึกษา การละเล่น การสันทนาการ การพักผ่อนหย่อนใจ การได้ส่งเสริมกิจกรรมด้านประเพณีวัฒนธรรม การได้เรียนรู้ศาสตร์ต่างๆอย่างเหมาะสม สามารถรู้ทันและเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีเสรีภาพทางความคิด ได้รับการพัฒนาด้านสติปัญญา การนับถือศาสนา ได้รับการส่งเสริมพัฒนาด้านบุคลิกภาพ การพัฒนาด้านอารมณ์และจิตใจ  ได้รับการพัฒนาสุขภาพร่างกาย ได้รับการศึกษา การฝึกอบรมเพื่อการประกอบอาชีพหรือความสามารถในการดำรงอยู่ในสังคม  ได้รับความสุข ได้รับความเอาใจใส่ ไม่ทอดทิ้งเด็ก

เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง ด้วยสิทธิทุกประการที่จะพิทักษ์ปกป้องคุ้มครองเด็ก เด็กควรได้รับการบริการขั้นพื้นฐาน เด็กจะต้องได้รับการคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติ การคุ้มครองจากการถูกล่วงละเมิด การทำร้าย การกลั่นแกล้งรังแก การใช้ความรุนแรง  การถูกกักขัง การลักพาตัว การทรมาน การใช้แรงงาน การบังคับขู่เข็ญ การคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรม  การคุ้มครองจากปัญหายาเสพติด การเอาเปรียบและการล่วงละเมิดทางเพศ

                เด็กมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วม มีบทบาทต่อครอบครัว สังคมและประเทศชาติ ทั้งในการพัฒนาสังคม ด้วยการแสดงทัศนะ การมีส่วนร่วม การสื่อสาร การมีบทบาทในการจัดการต่อปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและสังคม  การเปิดพื้นที่ให้เด็กได้มีโอกาสสร้างสรรอย่างมีส่วนร่วมในสังคม  สามารถเลือกความสนใจและความถนัดในอาชีพหรือการใช้ชีวิตที่เหมาะสม

             ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก จะต้องได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกันทั่วโลก และในประเทศไทยก็มีการกำหนดสิทธิของเด็กในด้านต่างๆตามรัฐธรรมนูญ เช่น สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งกำหนดว่า เด็กและเยาวชน มีสิทธิในการอยู่รอดและได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ตามศักยภาพในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของเด็ก และเยาวชนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังกำหนดถึงเด็กและเยาวชนที่ไม่มีผู้ดูแลว่า “เด็กและเยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแลมีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมที่เหมาะสม จากรัฐ”

                อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการกำหนดสิทธิเด็กไว้ชัดเจน แต่สังคมปัจจุบันมีการละเมิดสิทธิเด็ก ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเรื่อง การละเมิดสิทธิเด็ก จะเป็นเรื่องของความรุนแรง การทอดทิ้ง การใช้แรงงาน การค้าแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราต้องช่วยกัน ดูแลทั้งเด็กในครอบครัวของเรา และช่วยกันดูแลเด็กๆในสังคม

                และการละเมิดสิทธิเด็กที่เราอาจไม่เห็นชัด หรือเห็นว่าไม่รุนแรง แต่แท้ที่จริงเป็นการสร้างความเสี่ยงให้เด็ก โดยเฉพาะด้านโภชนาการ ซึ่งมีการโฆษณา หรือการขายผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเด็ก ซึ่งเราควรตระหนักร่วมกัน เพราะผลเสียต่อสุขภาพเด็กนับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้น

                วันเด็กในปีนี้ ขอให้เด็กๆมีความสุข มีสุขภาพดี สามารถพัฒนาตนเองอย่างมีสติ มีพ่อแม่ช่วยดูแล ส่งเสริมให้รู้เท่าทันสังคม รู้เท่าทันสื่อ และช่วยกันแบ่งปันการดูแลไปถึงเด็กกำพร้า เด็กป่วย เด็กพิการ หรือเด็กที่ถูกทอดทิ้งด้วยค่ะ

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]

 

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่  …10 มค  55 .คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า  7