นอกจากสารอาหารแล้ว สารเคมีที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพของพืชหรือที่เรียกว่า สารพฤกษเคมี หรือ ไฟโตนิวเทรียนท์ มีผู้ศึกษาพบแล้วมากกว่าหมื่นชนิด
ซึ่งมีการจัดเป็นกลุ่ม โดยมีรายละเอียดของแต่ละกลุ่มแยกย่อยออกไป ซึ่งเราจะพบคำศัพท์ต่างๆ เช่น ฟลาโวนอยด์ อัลคาลอยด์ แทนนิน เบต้าแคโรทีน ไกลโคไซต์ และมีคำอื่นๆอีกมากมาย ที่เวลาเราได้ทราบข่าวการวิจัย มักจะมีการพบสารเคมีในพืชกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ที่จะเป็นประโยชน์กับคนเรา
พืชผักผลไม้แต่ละชนิด มีสารพฤกษเคมีหลายชนิด มีมากมีน้อยแตกต่างกัน และมีประโยชน์ต่อคนเราหลายด้าน ในที่นี้ จึงขอยกตัวอย่างพืชจากสีของพืช เช่น พืชผลไม้สีเขียว กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่อยู่ในชีวิตประจำวันเรามากที่สุด มีแร่ธาตุหลายชนิด และมีสารที่เป็นประโยชน์มากมาย เช่น คลอโรฟิลล์ เบต้าแคโรทีน แคโรทีนอยด์ เป็นต้น ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ พืชผักผลไม้ ที่มีสีน้ำเงิน สีม่วง มีแอนโธไซยานิน ซึ่งมีฤทธิ์ ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ ตัวอย่างเช่น ข้าวก่ำ ถั่วดำ ถั่วแดง เป็นต้น ผัก พืชผักและผลไม้ที่มีสีขาว สีชา มีสารแซนโทน ในกลุ่มของฟลาโวนอยด์ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดอาการปวดข้อเข่า ต้านเชื้อโรคหลายชนิด ผักผลไม้สี เหลือง-สีส้ม เช่น ฟักทอง ส้ม มะละกอ กลุ่มนี้เรามีสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลายชนิด ส่วนกลุ่ม ที่สีน้ำตาล เช่น ขิง ข่า งา มี ฟลาโวนอยด์หลายชนิด ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ผักผลไม้ สีแดง เช่น มะเขือเทศ แตงโม กระเจี๊ยบแดง ผลฟักข้าวสุก จะมีสารตัวที่ชื่อว่า ไลโคพีน (lycopene) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นดี
นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น หากเราได้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม เราจะรักพืชผักผลไม้บ้านเรามากขึ้นไปอีก เพราะมีคุณประโยชน์นานับประการ มีสารสำคัญที่ดีต่อร่างกายเรามากมายหลายชนิด
คำถามคือ คำศัพท์วิชาการเมื่อออกมาจากนักวิชาการ ทำไมจึงไม่ได้รับความสนใจ แต่ทางการค้าทำไมจึงมีอิทธิพล เพราะนี่คือโฆษณา นี่คือการแสดงเพื่อหวังให้เกิดความเชื่อ คล้อยตามเรื่องราวที่ถูกสร้าง เป็นอรรถรส เป็นการสร้างค่านิยม สร้างความหวัง ด้วยเทคนิคแสงสีเสียง และก็ด้วยเทคนิคเหล่านี้ การโฆษณาสินค้ามากมาย จึงเข้าข่ายไม่จริง เกินจริงและหลอกลวง
นอกจากนี้การพิจารณายั้งคิด จะช่วยให้เราไม่หลงทิศหลงทาง หากเราไม่ใช้ความเร็วในการตัดสินใจ ไม่ใช้ความอยาก ไม่ใช้ความโลภ ไม่ใช้ความกลัว ไม่ใช่ “เทรนด์”และเราทดแทนวิธีคิดด้วยความช้า ความรอบคอบ แยกความจริงกับความเท็จออกจากกัน แยกข้อมูลในคำโฆษณา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องรู้ทันว่าแนวโน้มของการใช้ศัพท์วิชาการ เป็นไปเพื่อประกอบสร้าง”แบรนด์”ระดับพรีเมี่ยม ตีค่าทางจิตใจและอารมณ์ ก็ยิ่งท้าทายทิศทางของผู้บริโภคในภาพเสมือนของการยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งเนื้อแท้แล้วอาจเป็นเรื่องสุขเทียม งามเทียม ก็เป็นได้ และเมื่อศัพท์วิชาการเหล่านี้ติดตลาด ก็เกิดการเลียนแบบปลอมปนเกิดขึ้นในผลิตภัณฑ์ต่างๆขยายตัวออกไปอีก
สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์
หมายเหตุ
ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่..๑๕ มีนาคม ๒๕๕๔ หน้า ๗