อีกแล้ว!!จดหมาย หลอกลวงคุณคือผู้โชคดี

0
876

       จับครั้งที่ 1 ไม่ได้ จับครั้งที่ 2 ไม่ได้ เอ้าให้โอกาสอีกครั้ง เฮ..ครั้งนี้ได้รางวัลใหญ่ แต่แล้ว ต้องฝันสลายเมื่อ  “คุณต้องจ่ายก่อน 2x,xxx จึงจะได้รับของรางวัล ที่เหลือค่อยจ่ายเมื่อเอาของไปส่งถึงบ้าน”

                   

                   นี่คือเรื่องเล่า จากประสบการณ์ ผลจากจดหมายถึงบ้าน “คุณคือผู้โชคดี” ของผู้บริโภคท่านหนึ่ง

 

            แม้จะมีคำเตือน มีการปราบปราม  แต่จดหมายหลอกลวง คุณคือผู้โชคดี ก็ยังมีอยู่  ผู้บริโภคท่านนี้ก็เช่นกัน พอได้รับจดหมาย ในใจก็คิดว่าหลอกลวงแน่ๆ แต่ก็อยากจะรู้อยากลองไปดู  มันยังไงกันแน่ และหาทางป้องกันไว้ก่อน ไม่วางใจก็เอาญาติไปด้วยอีกคน จะได้ช่วยกันดูทางหนีทีไล่

 

    วิธีการคือ ให้มีการจับชิงโชคก่อน ว่าจะได้อะไร ครั้งที่ 1 ไม่ได้รางวัล ครั้งที่ 2 ได้รางวัลแต่เป็นรางวัลเล็กๆ จับอีกที ปรากฎว่าได้รางวัลใหญ่ ทีวี ตู้เย็น เครื่องเสียง แต่ละชิ้นก็น่าที่จะดีใจ

แต่ความดีใจไม่ทันจางหาย ความตกใจก็มาแทนที่ เมื่อพนักงานบอกว่า รางวัลนี้มีเงื่อนไข จะได้ฟรี ต้องซื้อของให้ครบจำนวนก่อน เป็นมูลค่าหลายหมื่นบาท  “คุณเอาเงินมาด้วยไหม” “ไม่ได้เอาเงินมา”  “ มีบัญชีธนาคารไหม หมายเลขบัญชีอะไร มีเงินเท่าใด  มีเอทีเอ็มไหม”        

 “…” สารพัดคำพูดจากพนักงานสามสี่คนที่รุมเข้ามา  ต่างพูดอย่างงั้นอย่างงี้หว่านล้อมให้บอกข้อมูลการเงินส่วนตัว   “เดี๋ยวพนักงานจะไปส่ง แต่ต้องต้องจ่ายก่อน สองหมื่นสี่พัน พอเอาของไปส่งถึงบ้านก็จ่ายทีเหลือ”

 

 

 

จากตัวเลขเกือบแสน และท่าทีของพนักงานที่สอบถามเหมือนข่มขู่ในที ทำเอา”ผู้โชคดี”ตะลึง แต่ก็ยังมีสติตอบต่อรองไปว่า “ถ้างั้นก็จะปรึกษาที่บ้านก่อน ค่อยมาเอาวันหลัง หาทางเลี่ยงเพื่อให้ออกจากร้าน ไม่สนใจเสียงทักท้วงต่อรองแกมขู่ของพนักงาน ดีว่ามีญาติไปด้วย เพิ่มน้ำหนักช่วยกันพูดปฏิเสธ

บทเรียนที่พบเจอด้วยตนเอง ตอกย้ำว่า จดหมาย “ผู้โชคดี”คือจดหมายหลอกลวงดังนั้นผู้บริโภคท่านนี้จึงต้องบอกต่อคนอื่น จะได้ไม่ถูกหลอก พร้อมแจ้งเรื่องนี้มายัง องค์กรผู้บริโภคซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องร้องเรียน แจ้งเรื่องไปยังสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคให้ดำเนินการ

เราอยู่ในบ้านของเราดีๆ มีจดหมายแจ้งโชคดี มีโทรศัพท์แจ้งโชคดี อย่าได้หลงเชื่อ ทุกอย่างคือการหลอกลวง หากได้รับจดหมายรีบแจ้ง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งตอนนี้มีภาระหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย หรือ แจ้งสคบ. หรือแจ้งองค์กรผู้บริโภค หรือแจ้งสื่อต่างๆ เพื่อให้มีการดำเนินการตรวจสอบ จับกุม หรือ เปิดโปงการหลอกลวง และสามารถแจ้งมาที่ คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค นี้ได้

ข้อควรระวังของเราคือ อย่าโลภ เพราะความโลภทำให้เราอาจพลาดพลั้งได้ อย่าลองไปดู เพราะก็อาจทำให้เราเสียทีได้  เพราะเราจะพบกับบรรยากาศที่หวานล้อมข่มขู่ หลอกล่อสารพัด ถ้าเรากลัว ตกใจ เราก็อาจตกเป็นเหยื่อได้

บริษัทพวกนี้ มักจะเร่ไปเรื่อยๆ พอจับทีหนึ่งก็ไปโผล่อีกทีหนึ่ง เปลี่ยนชื่อบริษัท  บางทีไปตรวจค้น ก็พบกับตึกว่างเปล่า กลุ่มนี้มักจะจัดของในลักษณะพร้อมย้าย พร้อมหนีได้ทันที

ข้อมูลส่วนตัวของเราอย่าได้เปิดเผยกับใคร โดยเฉพาะ บัญชีการเงิน ยิ่งการถามถึงตัวเลขในบัญชี แล้วละก็ อย่าได้บอกใคร กรณีของผู้บริโภคท่านนี้ มีการถามเรื่องบัญชีการเงินและจำนวนเงินด้วย ซึ่งอันตรายมาก แก๊งพวกนี้ อาจใช้ข้อมูลการเงินของเรามาหลอกลวงในวิธีการอื่นๆภายหลังได้

ต่อไปการรับจดหมาย “โชคดี”  การรับโทรศัพท์สารพัดหลอกลวง ต้องตั้งสติให้มั่น แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือองค์กรผู้บริโภค อย่านิ่งเฉย ต้องช่วยกันเปิดโปง และติดตามการเคลื่อนย้ายของบริษัทหลอกลวงเหล่านี้  เราช่วยกันเป็นหูเป็นตา จับให้ได้ไล่ให้ทันแก๊งหลอกลวงต้มตุ๋น

นี่คือสิทธิผู้บริโภค ใช้กฎหมายผู้บริโภค และใช้สติของเราให้มั่นคง

 

สุภฎารัตน์ สุธีพรวิโรจน์

[email protected]

หมายเหตุ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพื ไทยนิวส์ ฉบับวันอังคารที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔ คอลัมน์คุ้มครองผู้บริโภค หน้า ๗